สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 9 เดือนแรกปี 2563 และแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี - ASEAN All News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Saturday, October 10, 2020

สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 9 เดือนแรกปี 2563 และแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี


8 ตุลาคม 2563


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ควบคุมได้ดี ทำให้บรรยากาศการระดมทุนและลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในไตรมาส 3 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2563 มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงขยายตัวร้อยละ 5.09 เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา เงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยกลับมาเป็นการซื้อสุทธิ 39,444 ล้านบาท ในไตรมาส 3 แม้ว่าใน 9 เดือนแรกยังคงติดลบ 71,299 ล้านบาท

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยช่วง 9 เดือนแรกนี้ว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.09 มีมูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 14.2 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีมูลค่าคงค้างลดลง เนื่องจากการลดลงของการออกหุ้นกู้ระยะสั้น (DB: Debenture:) ของกลุ่มธนาคาร (Bank sector) จากสภาพคล่องในระบบธนาคารที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว แม้ว่าใน 9 เดือนแรกนี้จะต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในไตรมาส 3 โดยพบว่ากลุ่มพลังงาน (Energy sector) มีการออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจากความต้องการลงทุนมากขึ้นในธุรกิจพลังงานทางเลือก ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Bank sector) มีการออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 

ด้านกระแสเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทย (Fund flow) แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาวอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 แต่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ พบว่ายังเป็นการขายสุทธิรวม 71,299 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิทั้งในตราสารหนี้ระยะยาว (7,260 ล้านบาท) และตราสารหนี้ระยะสั้น (64,039 ล้านบาท) ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 นี้ นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวมลดลงจาก 916,816 ล้านบาท ณ สิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 848,767 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในไตรมาส 3 ขยับสูงขึ้นเล็กน้อยเกือบทั้งเส้นเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาส 2 จากความกังวลของนักลงทุนต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปี ขยับขึ้น 3-5 bps. ส่วนรุ่นอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 5 bps. และ 11 bps. มาอยู่ที่ร้อยละ 0.88 และร้อยละ 1.39 ตามลำดับ

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แนวโน้มการออก ESG bond (ESG: Environmental, Social and Corporate Governance) กลับเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 9 เดือนแรกนี้ มีการออก ESG bond ถึง 49,800 ล้านบาท สูงกว่าการออกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกือบ 4 เท่า และเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานภาครัฐออก ESG bond กว่า 42,800 ล้านบาท ได้แก่ กระทรวงการคลังออก Sustainability bond มูลค่า 30,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรออก Green bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท และการเคหะแห่งชาติออก Social bond มูลค่า 6,800 ล้านบาท ส่วนบริษัทเอกชนที่ออกในปีนี้ ได้แก่ บมจ.ปตท. และ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ออก Green bond มูลค่า 2,000 และ 5,000 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่าบริษัทเอกชนยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ไปจนกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับโลกจะคลี่คลาย และมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนักแม้ว่าจะมีความต้องการระดมทุนของรัฐบาลจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลจะใช้เครื่องมือการระดมทุนที่หลากหลาย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages