DGA จับมือร่วมพันธมิตรสร้างมิติใหม่การศึกษาไทย นำร่องเปิดใช้บริการ Digital Transcript ปี ’63 พร้อมดันสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบ - ASEAN All News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, December 2, 2020

DGA จับมือร่วมพันธมิตรสร้างมิติใหม่การศึกษาไทย นำร่องเปิดใช้บริการ Digital Transcript ปี ’63 พร้อมดันสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบ

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA พร้อมเดินหน้าผลักดันการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกมิติยกระดับสังคมไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยจับมือกับพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และ คณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) จัดงาน “แถลงข่าวนำร่องการให้บริการ Digital Transcript” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเดินหน้าใช้ Digital Transcript เข้ามาตอบโจทย์สำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน อำนวยความสะดวกให้นิสิต/นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ลดขั้นตอนการรับสมัครเข้าทำงาน หรือรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบ Transcript ในรูปแบบกระดาษ ซึ่งถือเป็นปัญหาและความยุ่งยาก (Pain Point) และมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบกระดาษโดยเฉพาะการทำสำเนาเอกสารซ้ำหลายครั้ง ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำการยกระดับการศึกษาไทยเข้าสู่ยุค Digital Transformation อย่างเป็นรูปธรรม

ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและการให้บริการนิสิตนักศึกษา ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ และยินดีสนับสนุนส่งเสริมโครงการ Digital Transcript อย่างเต็มที่ สำหรับเป้าหมายของโครงการ Digital Transcript เบื้องต้นอยากให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมนำร่องให้บริการให้ได้ภายในสิ้นปีการศึกษา 2563 คือ นิสิตนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษานี้จะได้รับ Transcript ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสมัครงานหรือเรียนต่อได้ทันที และคาดหวังว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ไปยังมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่สังกัดกระทรวงอื่น ๆ ในอนาคต

ด้าน ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เปิดเผยว่า “โครงการ Digital Transcript ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการรวมพลังผลักดันการศึกษาไทยก้าวสู่ยุค Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบ สามารถช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างมาก เช่น สำหรับนิสิต/นักศึกษา จะสามารถเข้าถึง Digital Transcript ของตนเองได้ผ่านช่องทางดิจิทัล ทุกที่ ทุกเวลา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานศึกษาเพื่อขอ Transcript ฉบับใหม่หรือค่าใช้จ่ายในการรับเอกสารทางไปรษณีย์ ด้านหน่วยงานที่ต้องใช้ Transcript ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะลดภาระและขั้นตอนในการตรวจสอบความถูกต้องจริงแท้ (Authenticity) ของเอกสารสำคัญทางการศึกษาได้ และมีความเชื่อมั่นได้ว่า Digital Transcript ที่มี Digital Signature เป็นเอกสารจริงที่ออกโดยมหาวิทยาลัย และไม่ถูกปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ โดยสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารด้วยตนเองเพียงใช้ซอฟต์แวร์พื้นฐาน และสถาบันอุดมศึกษาที่ออก Digital Transcript จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารรูปแบบกระดาษลงได้ในระยะยาว”

DGA ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ จึงได้เร่งเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อนำร่องโครงการ Digital Transcript เปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกเอกสารจากรูปแบบกระดาษเป็นรูปแบบดิจิทัลที่มีลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและประกาศมาตรฐานข้อมูลสำหรับการจัดทำ Digital Transcript เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานผ่านระบบดิจิทัล

โครงการ Digital Transcript นอกจากอำนวยความสะดวกแก่นิสิต/นักศึกษา และประชาชน ช่วยป้องกันการปลอมแปลงวุฒิการศึกษา และลดภาระของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารสำคัญทางการศึกษาแล้ว ยังนับเป็นการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลครั้งสำคัญของประเทศอีกด้วย ทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม (culture) และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behaviour) ของสังคมให้ยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้าง ตรวจสอบ และใช้งานเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลหรือ Digital Transcript ได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบ หรือ Model สำหรับการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในประเด็นหรือมิติอื่น ๆ ของภาครัฐต่อไป” 

นางสาววิริยา เนตรน้อย ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)
เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนการให้บริการของหน่วยงานของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การผลักดันการตราพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการเรียกรับสำเนาเอกสารราชการจากประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการในรูปแบบดิจิทัลโดยมุ่งเน้นเอกสารที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น ใบอนุมัติ ใบอนุญาต ใบรับรองต่าง ๆ ซึ่ง Digital Transcript ของมหาวิทยาลัยอยู่ในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้มีการจัดทำเอกสารอื่น ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เช่น บัตรต่าง ๆ ของทางราชการ ใบเสร็จรับเงินของหน่วยงานของรัฐ ใบมอบอำนาจ รวมทั้งใบรับรองแพทย์ จนถึงปัจจุบันมีเอกสารของหน่วยงานของรัฐจำนวน 61 เอกสารที่เป็นรูปแบบดิจิทัลที่เป็นไปตามมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะผลักอีกอย่างน้อย 80 เอกสารให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่เป็นไปตามมาตรฐาน เมื่อทุกหน่วยงานสามารถออกเอกสารหลักฐานในรูปแบบดิจิทัลได้สำเร็จ นอกเหนือจากผู้ประกอบการที่จะได้ประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารได้อย่างสะดวกรวดเร็วแล้ว หน่วยงานของรัฐที่ต้องรับคนเข้าทำงานจะได้รับประโยชน์อย่างมากเช่นเดียวกัน ในส่วนของมหาวิทยาลัย ทางสำนักงาน ก.พ.ร. มุ่งหวังว่านอกจากจะออก Digital Transcript แล้ว อยากให้เอกสารประเภทอื่นปรับเป็นเอกสารดิจิทัลด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กล่าวว่า การผลักดันให้ภาครัฐเกิดการทำงานในรูปแบบ Digitization เปลี่ยนผ่านการให้บริการและการออกเอกสารสำคัญต่าง ๆจากแอนะล็อก เป็นดิจิทัล ETDA ได้เดินหน้าขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องโดยร่วมกับ คณะทำงานกำหนดมาตรฐานและแนวทางการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำและประกาศใช้ ข้อเสนอแนะมาตรฐาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใบประมวลผลการศึกษา (Message Standard for Academic Transcript) เลขที่ ขมธอ.25-2563 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาเพื่อให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ใช้เป็นมาตรฐานแนวทางในการจัดทำใบประมวลผลการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้อง กับกฎระเบียบของแต่ละสถาบัน อำนวยความสะดวกแก่ นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาแล้ว รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สามารถเข้าถึงและตรวจสอบเอกสารสำคัญทางการศึกษาได้โดยง่าย รวดเร็ว และได้รับเอกสารในรูปแบบดิจิทัลที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล

สำหรับความสำคัญของมาตรฐานนี้ ได้มีการกำหนดโครงสร้างข้อมูลของข้อความอิเล็กทรอนิกส์ของใบประมวลผลทางการศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาใช้เป็นมาตรฐานแนวทางในการจัดทำข้อมูลในใบประมวลผลการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างข้อมูลในรูปแบบ Message Package ที่มีให้เลือกใช้งานหลากหลายไฟล์ ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้งานได้ ตามที่ ETDA กำหนด

การมี Digital Transcript นับเป็นส่วนหนึ่งของการนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้ Digital Standard Landscape ที่ ETDA หวังให้เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องมีแพลตฟอร์มและ e-Service ภายใต้มาตรฐาน กฎเกณฑ์ ที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อร่วมกัน Go Digital ขับเคลื่อนประเทศ เศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัลไปพร้อมกันกับ ETDA

ผศ. ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล
ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการจัดทำ Digital Transcript โดยมี สพธอ. เป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดทำและประกาศมาตรฐานดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันต่าง ๆ ผ่านระบบดิจิทัล ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมจะเริ่มนำร่องให้บริการ Digital Transcript ในปีการศึกษา 2563 นี้ และจะร่วมกันขยายผลไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เกี่ยวกับ : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สพร.” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Digital Government Development Agency (Public Organization)” หรือ “DGA” เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล ทำหน้าที่ในการให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สามารถติดตามและอัปเดตข้อมูลข่าวสารรัฐบาลดิจิทัล ได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th และโซเชียลมีเดีย : DGA Thailand ทุกช่องทาง หรือ โทร. 0-2612-6000

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages