ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในเร็ววันนี้ เราจึงจำเป็นต้องระมัดระวังและเข้มงวดเรื่องการใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว สำหรับกลุ่มคนด่านหน้า อย่างเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับศึกหนักต่อสู้กับเชื้อไวรัสไม่เว้นในแต่ละวัน สิ่งสำคัญนอกจากกำลังใจแล้วการที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ลดน้อยลงน่าจะเป็นความหวังสูงสุดในใจของกลุ่มคนเหล่านี้ วันนี้เรามี 2 มุมมองจาก 2 บุคคลด่านหน้าที่กำลังต่อสู้กับศึกโควิด-19 ขณะเดียวกันก็เป็น 2 บุคคลเบื้องหลังที่คอยเจียระไนเหล่านักศึกษาแพทย์ให้เติบโตมีความรู้ความสามารถเพียบพร้อมเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป
แม้ร่างกายอ่อนแอแต่จิตใจที่มุ่งมั่นย่อมสำคัญกว่า
ผศ.นพ.กุลพัชร จุลสำลี อาจารย์แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากเด็กหนุ่มที่มุ่งมั่นอยากเป็นวิศวกร อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาตัดสินใจเบนเข็มมาสู่เส้นทางของแพทย์ศาสตร์ได้ “จริงๆแล้วผมอยากเรียนวิศวะมาตลอดนะ แต่ตอนเด็กๆร่างกายผมไม่ค่อยแข็งแรง ชีวิตเลยวนเวียนเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ซึ่งภาพคุ้นตาของผมคือการที่มีเหล่าคุณหมอใส่ชุดกาวน์สีขาวเข้ามาดูแลมาตรวจรักษาเป็นอย่างดี ผมก็เลยเริ่มมีความคิดว่าจริงๆการได้เรียนหมอน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เราจะมีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่ตอนนั้นก็ยังเป็นแค่ความคิดเล็กๆ จนมาถึงจุดที่ทำให้ได้เรียนหมอจริงๆน่าจะเป็นอีกช่วงตอนที่เตรียมสอบเอ็นทรานซ์ผมก็เกิดป่วยขึ้นมาจนต้องเข้าโรงพยาบาลอีกรอบ ตอนนั้นเลยผมจึงเริ่มมีความคิดที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเด็กขี้โรคมาเป็นผู้ให้กับเขาบ้าง นี่จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเดินเข้าสู่เส้นทางแพทย์”
เส้นทางเดินที่เกิดจากการผสมผสานความชอบ
“พอได้เข้ามาเรียนแพทย์จริงๆก็ค่อนข้างต่างจากที่ผมเคยคิดไว้นะ เคยคิดว่าการเป็นนักศึกษาแพทย์วันๆต้องเอาแต่เรียนเรื่องวิชาการยากๆจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น ก็ถือว่าจริงนะครับเพราะวิชาที่เราเรียนเกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิตมนุษย์ แต่อย่างน้อยชีวิตวัยเรียนของผมก็ถือว่ายังมีเวลาได้ทำกิจกรรมนอกคณะที่ชอบด้วยเช่นกัน และตอนที่เลือกเรียนสายเฉพาะทางผมก็ตัดสินใจเลือกเรียนด้านออร์โธปิดิกส์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านชีวกลศาสตร์ซึ่งมีความเป็นวิชาแนววิศวะหน่อยๆเพราะเรียนเกี่ยวกับด้านกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อต่างๆซึ่งตอบโจทย์ความชอบเดิมของผมทำให้รู้สึกเหมือนเราได้เป็นทั้งแพทย์และวิศวกรในคนๆเดียว”
ชีวิตไม่ต่างอะไรกับการแก้สมการ
“ผมเองมีความตั้งใจจริงที่อยากจะเป็นอาจารย์แพทย์อยู่แล้ว เพราะเรามีต้นแบบอาจารย์ที่ดีที่สอนให้เราค้นพบความชอบของตัวเองและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ผมคอยย้ำกับลูกศิษย์บ่อยๆว่าการที่เราเลือกเส้นทางการเป็นแพทย์แล้วสิ่งที่จะทำให้เราอยู่กับวิชาชีพนี้ด้วยความสุขนั่นคือการได้เรียนในสิ่งที่เรารักจริงๆ มีลูกศิษย์หลายคนที่มาปรึกษากับผมเพราะเคยรู้สึกท้อกับการเรียน คำแนะนำของผมคือการถามใจตัวเองว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากเรียนแพทย์คืออะไร เราต้องแก้สมการเรื่องนี้ให้ได้ก่อน เพราะเมื่อใดที่เราก้าวเข้ามาในเส้นทางสายนี้แล้วสิ่งที่เราต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกนั่นคือการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และจากสถานการณ์ทุกวันนี้ที่เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องรับศึกหนักมากกว่าครั้งไหนๆ เราจึงยิ่งต้องเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งให้กับผู้ป่วยให้ได้อย่างดีที่สุด และในฐานะอาจารย์การที่ได้เห็นลูกศิษย์เติบโตไปเป็นแพทย์ที่ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงนี่ความภาคภูมิใจสูงสุดของคนเป็นอาจารย์แล้วครับ”
ยุคโควิดกับการผลิตแพทย์ผ่านออนไลน์
“การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ก็ถือว่ามีข้อได้เปรียบเพราะเราได้เห็นปฏิกิริยาของลูกศิษย์ทุกคนที่เราสอน ได้เช็คว่าพวกเขาเข้าใจเนื้อหาและตามทันหรือไม่ รวมถึงระบบเสียงและการโชว์สไลด์ที่ทำให้มั่นใจว่าลูกศิษย์ทุกคนได้เห็นเนื้อหาแบบชัดเจนเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าจะมีข้อเสียเปรียบอย่างในส่วนของการทำหัตถการก็มีข้อจำกัดมากขึ้น แต่ในทุกรายวิชาหลังจบหลักสูตรเราจะมีการประเมินที่ชัดเจนว่านักศึกษาแพทย์ที่เรียนจบไปมีความรู้ความสามารถที่เพียงพอสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยในอนาคต ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่คณะแพทย์ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งครับ”
หาจุดตรงกลางของความแตกต่างทางความคิด
อ.นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์แพทย์อีกท่าน ที่เล่าให้ฟังว่าเดิมทีมีความตั้งใจจะเป็นนักวิจัยทางชีววิทยาเพราะมีความชอบเป็นทุนเดิม แต่เพราะครอบครัวอยากให้เรียนแพทย์เขาจึงเริ่มหาข้อมูลของคณะแพทย์ที่มีหลักสูตรตรงกับความชอบของตนเองและได้พบว่าหลักสูตรการเรียนของคณะแพทย์ที่รามาธิบดีมุ่งเน้นการทำงานงานวิจัยจึงถือว่าตอบโจทย์ความต้องการทั้งของตนเองและครอบครัว
คนเป็นหมอต้องสมดุลทั้งศาสตร์และศิลป์
“พอมาเรียนหมอจริงๆแล้วผมรู้สึกสนุกกับมันนะครับ คิดว่าพื้นฐานน่าจะมาจากการที่เราชอบเรื่องราวเชิงวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่ก็รู้สึกว่าการเรียนเนื้อหาในช่วง 3 ปีแรกค่อนข้างแน่นและกดดันเพราะเนื้อหาเยอะ แต่มีเวลาจำกัด พอเริ่มขึ้นปี 4 เป็นต้นไปนักศึกษาแพทย์ก็ต้องเริ่มขึ้นวอร์ดตรวจคนไข้ ฉะนั้นในส่วนนี้จะไม่ได้มีแค่การเรียนเนื้อหาภาคทฤษฎีอีกต่อไปแล้ว แต่คือการที่จะได้เจอคนไข้จริงๆได้ออกตรวจได้พูดคุยซักถามอาการและวางแผนการรักษา ซึ่งสิ่งที่เราต้องฝึกรับมือด้วยตนเองคือการบริหารจัดการความคาดหวังของคนไข้รวมถึงการดูแลจิตใจของคนไข้และญาติควบคู่กันไป เรียกได้ว่าอาชีพแพทย์เราต้องมีทักษะทั้งด้านศาสตร์คือองค์ความรู้ที่จะนำมารักษาคนไข้ รวมถึงทักษะด้านศิลป์คือจิตวิทยาทางสังคม ศิลปะการพูดเพื่อให้คนไข้รู้สึกสบายใจและมีกำลังใจที่ดีในการต่อสู้กับโรคที่เขาเผชิญอยู่ ซึ่งการทำให้มีความสมดุลขององค์ความรู้ทั้งสองด้านนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคนเรียนแพทย์มากครับ”
เมื่อโรคเปลี่ยน...การเรียนต้องเปลี่ยนตาม
“สถาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้โลกต้องปรับตัวตามในทุกๆด้าน การเรียนของนักศึกษาแพทย์ก็เช่นกันที่ต้องปรับให้ต้องสอนผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งทั้งผู้สอนและผู้เรียนเองก็ต้องปรับตัวเข้าหาซึ่งกันและกันด้วย รวมถึงทางคณะที่ต้องปรับหลักสูตรให้เข้ากับสถานการณ์ในตอนนี้ด้วยเช่นกัน อย่างวิชาที่ต้องฝึกทักษะการปฎิบัติจริงอย่างการผ่าตัดทำหัตถการหรือการทำงานในห้องแล็บเอง ทางคณะฯ ก็จัดหาอุปกรณ์การเรียนหรือพวกหุ่นจำลองต่างๆ ที่มีความทันสมัยเพิ่มขึ้นรวมถึงจัดทำหลักสูตรแบบ eLearning ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตนเองในเวลาใดก็ได้ และในฐานะอาจารย์ผมมองว่าผู้สอนยุคใหม่เองก็ต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น Lecturer ไปเป็น Assistant เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนให้นักศึกษาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น และสำคัญคือการให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างต้นกล้าเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงในอนาคต”
ชีวิตจริงของคนด่านหน้า
“การที่เราทำงานอยู่ในด่านหน้าตอนนี้ทำให้เห็นผลกระทบจากโควิดมากมายทั้งการระบบการตรวจโรคที่ไม่เพียงพอ, คนไข้ล้นโรงพยาบาลและคนไข้อาการหนักก็ยังมีเข้ามาเรื่อยๆ, ห้องฉุกเฉินเต็มไปด้วยผู้ป่วยโควิดที่ต้องรอต่อคิวใช้เครื่องช่วยหายใจ, อุปกรณ์การแพทย์ทั้งหน้ากาก N95, ชุด PPE, เครื่องช่วยหายใจมีไม่เพียงพอ, บุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันแทบไม่ได้หยุดเพราะเรามีจำนวนน้อยลง บางส่วนก็ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตไปแล้วด้วย เชื้อก็พัฒนาตัวเองจนกลายพันธุ์จนยากที่จะรับมือ สถานการณ์ตอนนี้บอกได้เลยว่ากำลังแย่ขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีสัญญาณใดๆที่บอกว่าประเทศเราจะรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ได้เร็วๆนี้”
การใช้ชีวิตของหมอในวันที่ต้องพักเพื่อลุกขึ้นมาสู้ต่อ
“อย่างที่เราเห็นข่าวกันว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นศึกหนักที่บุคลากรทางการแพทย์กำลังรับมืออยู่ไม่ใช่เฉพาะที่รามาธิบดีเท่านั้น แต่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั่วประเทศ กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์เดียวกัน ยอมรับว่าเราเหนื่อยกันมาก ต้องเข้าเวรติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการบริหารจัดการเวลาในการดูแลทั้งผู้ป่วย โควิดและผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่เราต้องรับผิดชอบก็ถือเป็นงานที่ยากขึ้นเพราะบุคลากรทางการแพทย์เราน้อยลง ฉะนั้นตอนนี้บอกตามตรงผมเองก็แทบไม่ได้พักเลยเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าจะอย่างไรก็ตามก็ยังขอสู้ต่อเพื่อผู้ป่วย แต่ในช่วงเวลาสั้นๆที่ผมได้มีเวลาให้ตัวเองการพักสมองด้วยการฟังเพลงที่ชอบไม่กี่นาทีก็ช่วยให้เรามีแรงสู้ต่อได้ ผมมองว่าการเติมเต็มมิติความเป็นมนุษย์ในด้านอื่นๆเข้ามาเป็นสิ่งที่จำเป็นนะครับ เพราะจะช่วยทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม”
Post Top Ad
วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564

จิตวิญญาณความเป็นอาจารย์แพทย์ กับการรักษาผู้ป่วย สอนนักศึกษา และการใช้ชีวิต
Tags
# การศึกษา
Share This
About threportor
การศึกษา
ป้ายกำกับ:
การศึกษา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Post Bottom Ad
Author Details
Templatesyard is a blogger resources site is a provider of high quality blogger template with premium looking layout and robust design. The main mission of templatesyard is to provide the best quality blogger templates which are professionally designed and perfectlly seo optimized to deliver best result for your blog.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น