เอเอ็มอาร์ เอเซีย โชว์ผลงานรถไฟฟ้าสายสีทองฝีมือคนไทย ต่อคณะกรรมมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมหนุนวิศวกรไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ - ASEAN All News

ASEAN All News

ข่าวสารอัพเดท ทันทุกเทรนด์โลก รอบรั้วอาเซียน

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, October 21, 2020

เอเอ็มอาร์ เอเซีย โชว์ผลงานรถไฟฟ้าสายสีทองฝีมือคนไทย ต่อคณะกรรมมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมหนุนวิศวกรไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ



เอเอ็มอาร์ เอเซีย ต้อนรับคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการศึกษาดูงาน รถไฟฟ้าสายสีทอง และเยี่ยมชมโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีทอง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน


นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี – สำนักงานเขตคลองสาน) มีความคืบหน้ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2563 หรืออย่างช้าไม่เกินช่วงต้นปี 2564 ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ถือเป็นความภูมิใจของคนไทย ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาขึ้นมา เพราะได้รับการออกแบบและติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าด้วยวิศวกรชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นงานด้านโยธา ระบบราง ระบบไฟฟ้า ระบบ SCADA หรือส่วนติดตามควบคุมติดต่อสื่อสาร ซอฟต์แวร์ควบคุมระบบการเดินรถทั้งหมดก็เขียนโดยคนไทยและยังสามารถออกแบบให้เชื่อมต่อไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าที่สถานีหมอชิตได้อีกด้วย นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีทองนับเป็นสายแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบไฟฟ้า AGT (Automated Guideway Transit) แบบล้อยางแทนการขับเคลื่อนด้วยระบบราง ซึ่งวิศวกรชาวไทยสามารถออกแบบและผลิตได้เองภายในประเทศ แต่เหนือสิ่งอื่นใดความภูมิใจนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตภายในประเทศขึ้นมา

นายประทวน สุทธิอำนวยเดช รองประธานคณะกรรมาธิการ การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “เราควรให้การสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง ที่ผ่านมา หลายอย่างเราพึ่งพาการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศ แต่หากเราส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่งเสริมธุรกิจของคนไทยก็จะช่วยลดการขาดดุลต่างชาติ ก่อให้เกิดตำแหน่งงานและการจ้างงานระยะยาว นั่นคือวัตถุประสงค์หลักที่รัฐบาลอยากให้เกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2548 มีแผนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นวงเงินสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีแผนการลงทุนรถไฟฟ้าระบบรางรวมอยู่ด้วย และหากพูดถึงคำว่ารถไฟฟ้าก็เหมือนรถที่ต้องมีการซ่อมบำรุงรักษา ที่ผ่านมาเราเสียส่วนแบ่งการตลาดเสียทั้งค่าติดตั้งและค่าซ่อมบำรุงระยะยาวให้กับต่างประเทศ ทั้งที่วิศวกรคนไทยก็สามารถทำได้แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะไม่มีผลงานไปยื่นเสนอแข่งกับต่างประเทศชิ้นส่วนอุปกรณ์หลายชิ้นที่ใช้ในระบบรถไฟฟ้าก็ผลิตในประเทศไทย แต่ต้องส่งออกและเอากลับเข้ามาขายใหม่ในนามของบริษัทต่างชาติ ทำให้เราขาดดุลอย่างมากในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนล้วนยอมรับในคุณภาพสินค้าของประเทศไทย แล้วทำไมเราไม่ยอมรับในคุณภาพยอมรับในสินค้าของคนไทย การที่เราจะส่งเสริมอุตสาหกรรมของคนไทยให้ก้าวไกลได้ ต้องทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับให้ได้ก่อน ต้องมีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินการ ต้องให้สิทธิพิเศษทางการค้าและแหล่งเงินทุนจาก BOI เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดผลงาน นำไปแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้”

นายมารุต กล่าวต่อว่า ตอนนี้องค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมของคนไทยนั้นก้าวหน้าอย่างมาก อย่างเช่นในงานโยธาของรถไฟฟ้าสายสีทอง มีการหล่อชิ้นส่วนปูนสำเร็จรูปจากโรงงานแล้วนำมาติดตั้งที่ไซต์งานเหมือนประกอบจิ๊กซอว์ ซึ่งทำให้การก่อสร้างดำเนินงานไปได้ด้วยความรวดเร็ว ใช้เทคโนโลยีการออกแบบติดตั้งอย่างมีมาตรฐานและปลอดภัย ส่วนประกอบหลายส่วนเราสามารถผลิตเองได้ เช่น ล้อยาง แต่ก่อนเรานำเข้าจากต่างประเทศแต่สืบจนรู้ว่าล้อยางที่ใช้เป็นล้อยางที่ผลิตในประเทศไทย แต่เราต้องซื้อยางเส้นนั้นในราคาแพงผ่านบริษัทต่างชาติ นอกจากนี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมระบบรถไฟฟ้า ทั้งหมดเขียนขึ้นโดยวิศวกรไทย ซึ่งช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ช่วยพิสูจน์อย่างหนึ่งคือ ช่วยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศทำให้งานก่อสร้างดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง

เพราะเราใช้วิศวกรไทย ใช้นวัตกรรมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อใช้งานสำหรับรถไฟฟ้าแทนการนำเข้า เช่น ชุดหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน (EMP) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และราคาถูกกว่าต่างประเทศ ชุดตรวจสอบการทำงานกล้องบนตัวรถไฟฟ้า (NVR Monitoring) ที่สามารถระบุได้กระทั่งว่ามีกล้องตัวไหนที่เสียอยู่ในระบบ ชุดแสดงตำแหน่งรถไฟฟ้า (DRMS) ที่เชื่อมต่อระหว่างศูนย์ควบคุมและตัวรถ

“ผมไม่อยากเห็นคนไทยทำหน้าที่แค่ซ่อมรถไฟฟ้า ผมอยากเห็นคนไทยเป็นผู้ติดตั้งระบบรถไฟฟ้ามากกว่า ทุกวันนี้วิศวกรคนไทยสามารถออกแบบได้มาตรฐานและอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ถ้าภาครัฐไม่สนับสนุนก็ไม่มีทางที่คนไทยจะสร้างนวัตกรรมของตัวเองได้อย่างแน่นอน” นายมารุต เปรยทิ้งท้าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages