ผลการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมามีกิจกรรมที่สถาบันฯ ดำเนินงานสร้างผลสำเร็จสามารถสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าให้กับประชาชนบนพื้นที่สูง กว่า 4,000 หมู่บ้าน ภายใต้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน การบูรณาการของหน่วยงาน สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไร่ดั่งเดิมให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ลดการเผ่าป่า แก้ปัญหาความยากจน เกษตรกรสามารถคืนพื้นที่เพาะปลูกให้กับกรมป่าไม้ในหลายพื้นที่ ทั้งยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ต่อยอดองค์ความรู้ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาพื้นที่สูงอื่น ๆ ต่อไป
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง โดยสนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้ที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนมีอาชีพและรายได้เพียงพอ โดยยึดความเหมาะสมตามแผนการใช้ที่ดิน และเกษตรกรได้ผลตอบแทนที่ดีจากการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเหมาะสม
สำหรับประชากรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงปัจจุบันมีประมาณ 4,000 หมู่บ้าน นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระราชทานโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งปัจจุบันมีการขยายงานไปแล้วกว่า 616 ชุมชน โดยมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวง/สถานีเกษตรหลวง 39 แห่ง , โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 33 แห่ง , โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะ (โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน) 11 แห่ง , โครงการ "รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน" โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง (785 ศศช.) 11 แห่ง และ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ 1 แห่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) พัฒนาครูเข้าไปสอนความรู้ให้กับชาวบ้าน รวมทั้งสถาบันยังมีเกษตรผู้นำที่เป็นพี่น้องชนเผ่าในพื้นที่ให้เข้าทำงานกับคนในชุมชนเพื่อง่ายต่อการสื่อสารกันได้ สามารถสร้างผู้นำชุมชนฝีมือดีๆ ได้มากกว่า 1,000 คน (909 ราย) ในแบบการทำงานเชิงรุกเปรียบเสมือนบุคลากรของเรา ซึ่งปีที่ผ่านมาเรามีผู้นำเกษตรกรจังหวัดน่านไปให้ความรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ ที่ประเทศออสเตรเลีย ตามแนวทางโครงการในพระราชดำริ
• ด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนโครงการหลวง โดยขยายผลสำเร็จในการสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ที่มีคุณค่า แบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก คือ เฮมพ์พันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายใหม่ เกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตตามกฎกระทรวงใหม่ และสารสกัดกัญชง (CBD Hemp oil), ข้าวพันธุ์ท้องถิ่นที่มีโภชนาการสูง (ประเภทกลุ่มสีม่วงดำ) และ การผลิตองุ่น “ไชน์มัสแคท”
• ด้านการขยายผลสำเร็จของโครงการหลวง ในการสนับสนุนงานโครงการหลวง “สารธารแห่งภูมิปัญญา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ขยายผลสำเร็จของสถาบันฯ ในการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในเชิงพื้นที่มี 3 ประเด็น คือ 1)สืบสานขยายความสำเร็จงานโครงการหลวงสู่การพัฒนาพื้นที่สูง 2)สืบสานขยายความสำเร็จงานโครงการหลวงสู่การพัฒนาพื้นที่สูงในเชิงพื้นที่จังหวัดน่าน และ 3)สถาบันกับการพัฒนาการเปลี่ยนแปลง จากพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่สีเขียวบ้านหมากแข้ง “ชีวิตของฉันในพื้นที่สีแดง “My Life in the RED ZONE” และผลสำเร็จของสถาบันในการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในการแก้ไขปัญหาสำคัญบนพื้นที่สูง แก้ปัญหาความยากจน ลดพื้นที่ปลูกฝิ่น ปรับเปลี่ยนพื้นที่ข้าวโพดเป็นพื้นที่ส่งเสริม
ที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ดำเนินงานใช้หลักการทำงานภายใต้แนวพระราชดำริและงานโครงการหลวง โดยมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูงจากที่ยึดอาชีพปลูกพืชไร่ ถางป่า ทำลายและเผาป่า จนเกิดหมอกควัน ให้หันมาทำการเกษตรอย่างปราณีต โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจแทน เช่น พืชเกษตรในโรงเรือน ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีการใช้น้ำและดินอย่างคุ้มค่า โดยใช้เวลาเพียงไม่นานสามารถเปลี่ยนพื้นที่จากปลูกข้าวโพดมาเป็นปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรใช้พื้นที่ลดน้อยลงเพียง 1-2 ไร่ แต่กลับมีรายได้มากกว่าปลูกข้าวโพดเฉลี่ย 20-30 ไร่ ทำให้สามารถคืนพื้นที่ป่าให้กับกรมป่าไม้ได้เป็นจำนวนมาก
“จริง ๆ ประชาชนที่อยู่ห่างไกลไม่ได้ถูกทอดทิ้ง รัฐบาลดูแลส่งคนเข้าไปช่วยดูแลในทุกมิติ แต่หลักการทำงานของเจ้าหน้าที่จะเหมือนเป็นผู้ปิดทองหลังพระก็ว่าได้ เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า ช่วยชาวเขา จะเกิดประโยชน์กับชาวเรา และช่วยชาวโลกได้ต่อไป” นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
No comments:
Post a Comment