ครอบครัวสมัยใหม่ กับเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก - ASEAN All News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, March 30, 2021

ครอบครัวสมัยใหม่ กับเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก

กรุงเทพฯ – 30 มีนาคม 2564 : แนวคิดของการมีลูกและวางแผนครอบครัวเปลี่ยนไปตามยุคสมัย “มีลูกเมื่อพร้อม” ถูกนำมาพูดบ่อยครั้งในช่วงนี้ ซึ่งความพร้อมในหมายของคู่แต่งงานหลายคู่ คือ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม และเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามด้วยไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่รุ่นใหม่ที่อาจเกิดความเครียดสะสม บวกกับการแต่งงานช้า จึงทำให้คู่แต่งงานส่วนใหญ่พบปัญหามีบุตรยาก แต่ข้อได้เปรียบในปัจจุบัน คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และวิทยาการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีโอกาสในการมีบุตรมากขึ้น ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่หลากหลาย โดยแต่ละวิธีก็จะเหมาะสมกับแต่ละปัญหาของคู่สมรส


พญ.เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจตนิน โรงพยาบาลรักษาภาวะมีบุตรยาก
 กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีที่ช่วยในการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากในปัจจุบัน คือ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และการทำอิ๊กซี่ (ICSI) ซึ่งเป็นการนำไข่และเชื้ออสุจิมาปฏิสนธิภายนอกร่างกายโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในห้องปฏิบัติการ ซึ่งทั้งสองวิธีนี้มีจุดแตกต่างกันคือ วิธีการที่ตัวอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ อธิบายให้เห็นภาพ คือ การทำ IVF จะนำไข่จากฝ่ายหญิง และอสุจิจากฝ่ายชายมาผสมกัน ให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกโดยปล่อยให้ไข่ที่สมบูรณ์และตัวอสุจิที่แข็งแรงที่สุดผสมกันเองตามธรรมชาติ จากนั้นจึงนำไข่ที่ผสมเป็นตัวอ่อนนำกลับไปฝังในโพรงมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป


ขณะที่การทำ ICSI เป็นการคัดเอาตัวอสุจิที่มีความสมบูรณ์เพียงตัวเดียวด้วยกล้องจุลทรรศน์ ฉีดเข้าไปผสมกับไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ จากนั้นนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เมื่อตัวอ่อนพัฒนาไปอยู่ในระยะที่เหมาะสม หรือระยะบลาสโตซิส (Blastocyst) ก็จะนำเข้าไปใส่ในโพรงมดลูกต่อไป ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วจะพบว่าการทำ ICSI มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

“วิธี ICSI เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติของท่อนำไข่ที่ตีบหรือตันทั้งสองข้าง มีภาวะตกไข่ผิดปกติ มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานมาก และฝ่ายชายที่เชื้ออสุจิมีจำนวนน้อยหรือคุณภาพไม่ดี รวมถึงภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะทำการกระตุ้นการตกไข่ของผู้หญิงประมาณ 10-12 วัน หลังจากนั้นจะทำการเก็บไข่ออกมาปฏิสนธิกับอสุจิที่ผ่านการคัดแยกมาจนได้เป็นตัวอ่อน นำไปเพาะเลี้ยงให้เติบโตภายในห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อ โดยการควบคุมอุณหภูมิแสงสว่าง ความชื้นและแรงดัน จนถึงระยะบลาสโตซิส (Blastocyst) ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมกับการฝังตัว” พญ.เทพจงจิต กล่าว

ในกรณีที่ฝ่ายชายมีความผิดปกติของอสุจิมาก อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้คือ “อิมซี่” (IMSI - Intracytoplasmic Morphologically Selected Sperm Injection) ซึ่งจะทำการคัดอสุจิด้วยกล้องกำลังขยายสูงมากกว่า 6000x เพื่อช่วยในการคัดเลือกอสุจิมาปฏิสนธิกับไข่

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี “การตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว หรือ Preimplantation Genetic Testing for Aneuploidy (PGT- A) ” ซึ่งเป็นการนำเซลล์ตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิส (Blastocyst) ไปตรวจด้วยเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) สามารถตรวจคัดกรองจำนวนโครโมโซมได้ทั้ง 24 ชนิด ซึ่งมีความแม่นยำสูงสุดถึง 99.9% เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากจำนวนของโครโมโซมที่ขาดหรือเกินในตัวอ่อน ที่อาจเป็นสาเหตุของการแท้ง หรือกลุ่มอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down’s Syndrome) ในทารก การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนเป็นเทคโนโลยีช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ในกลุ่มผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปีให้สำเร็จเป็นอย่างดี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-655-5300 หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา ผ่านแบบฟอร์มการติดต่อทางเว็บไซต์ คลิก


                                                 ######

เกี่ยวกับโรงพยาบาลเจตนิน

กว่า 25 ปีที่โรงพยาบาลเจตนินได้ให้บริการด้านภาวะมีบุตรยากให้กับหลาย ๆ ครอบครัว โรงพยาบาลมุ่งมั่นพัฒนาและให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการมีบุตรด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้ได้บุตรที่สมบูรณ์สุขภาพดีและเติมเต็มความสุขให้กับทุกครอบครัว เจตนิน ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจาก 2 สถาบัน ทั้ง JCI (Joint Commission International) จากสหรัฐอเมริกาและ RTAC (Reproductive Technology Accreditation Committee) จากออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001: 2015 สำหรับการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ (ภาวะมีบุตรยาก) ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.jetanin.com/

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages