ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 สุดสัปดาห์นี้ ทูตสันถวไมตรียูนิเซฟและผู้สนับสนุนออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ให้คำมั่นที่จะแบ่งปันวัคซีนโควิด 19 ที่มีอยู่อย่างน้อยร้อยละ 20
นิวยอร์ก, 8 มิถุนายน 2564 – ทูตสันถวไมตรีองค์การยูนิเซฟ ปริยังกา โจปรา โจนาส, เดวิด เบ็คแฮม, เคที เพร์รี, ออร์แลนโด บลูม, วูปี โกลด์เบิร์ก, แองเจลีก คิดโจ และเลียม นีสัน ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกครั้งสำคัญ กับเหล่าคนดังผู้สนับสนุนองค์การยูนิเซฟอีก 28 คน เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ให้คำมั่นที่จะบริจาควัคซีนโควิด- 19 แก่ประเทศยากจนโดยทันที
จดหมายเปิดผนึกนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ที่จะเริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายนนี้ ที่คอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ โดยเรียกร้องให้เหล่าผู้นำให้คำมั่นในการแบ่งปันโดสวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อยร้อยละ 20 อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยลดการระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และให้เกิดการกระจายวัคซีนแก่ประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม
เหล่าคนดังที่มาร่วมสนับสนุนยูนิเซฟ ได้แก่ รามลา อาลี, เฟร์นันโด อาลอนโซ, เดวิด เบ็คแฮม, ออร์แลนโด บลูม, โฮเซ่ มานูเอล คาลเดอรอน, โซเฟีย คาร์สัน, เจ็มม่า ชาน, ปริยังกา โจปรา โจนาส, โอลิเวีย โคลแมน, บิลลี ไอลิช, พาว กาซอล, ปี โกลด์เบิร์ก, เดวิด แฮร์วูด, เซอร์คริส ฮอย, แองเจลีก คิดโจ, เทีย เลโอนี, ลูซี หลิว, ฮวน มานูเอล โลเปซ อิตูร์เรียกา, ยวน แม็คเกรเกอร์, อลิสซา มิลาโน, แอนดี้ เมอร์เรย์, เลียม นีสัน, เลียม เพย์น, เคที เพร์รี, เซร์ฆิโอ ราโมส, คลอเดีย ชิฟเฟอร์, เทเรซ่า วีโจและพิงก์
เนื้อความท่อนหนึ่งในจดหมายระบุว่า “ทั้งโลกใช้เวลาปีครึ่งเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด 19 แต่ไวรัสก็ยังคงระบาดอยู่ในหลายประเทศและกำลังกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์นี้อาจจะพาพวกเราทุกคนถอยหลังกลับไปยังที่เดิม…นั่นหมายความว่าจะมีการปิดเรียนเพิ่มขึ้น เกิดความโกลาหลในระบบสาธารณสุข และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น ซึ่งคุกคามความเป็นอยู่และอนาคตของเด็กและครอบครัวทั่วทุกหนแห่ง”
จดหมายฉบับดังกล่าวยังกล่าวเตือนด้วยว่าโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทั่วโลกในการสนับสนุนประเทศยากจนให้เข้าถึงวัคซีน กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีนอยู่จำนวน 190 ล้านโดส และเสนอให้กลุ่มประเทศ G7 บริจาควัคซีนร้อยละ 20 ของประเทศตนเองในระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม จำนวน 150 ล้านโดส เพื่ออุดช่องว่างและแก้ปัญหาการขาดแคลนครั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดจัดทำโดยแอร์ฟินิตี (Airfinity) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากยูนิเซฟในประเทศอังกฤษ ระบุว่า กลุ่มประเทศ G7 สามารถบริจาควัคซีนจำนวนนี้ได้โดยไม่กระทบแผนการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนของตนเอง
“ในฐานะทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ ผมเชื่อในประโยชน์ของการฉีดวัคซีน” เดวิด เบ็คแฮม ทูตสันถวไมตรี องค์การยูนิเซฟ กล่าว “วิกฤติโควิด-19 ไม่จบจนกว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงในทุกพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกชุมชนทั่วโลกจะได้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมโดยทันที”
ยูนิเซฟยังเตือนอีกว่า หากไม่เกิดความยุติธรรมและเท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนโดยทันทีแล้ว โลกก็จะยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับการระบาดระลอกสองที่กวาดชีวิตผู้คนอย่างมหาศาลในประเทศอินเดีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้ เช่น เนปาล ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน
ปริยังกา โจปรา โจนาส ทูตสันถวไมตรีองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “วิกฤตในอินเดียและทั่วทวีปเอเชียใต้ก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งร้ายแรง จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสถานพยาบาลทั่วอินเดีย เตียงในโรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และออกซิเจนขาดแคลน พวกเราทุกคนที่ยูนิเซฟรู้สึกกังวลใจเมื่อได้เห็นข่าวเด็ก ๆ ล้มป่วยจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ พร้อม ๆ กับที่หลายคนที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ ถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง และตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่จำเป็น วัคซีน และการศึกษาได้”
ปริยังกากล่าวต่อไปว่า “วิกฤตในอินเดียทำให้เห็นว่าทำไมเราจึงต้องเร่งดำเนินการทันทีเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะสร้างความเสียหายต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางทั่วโลก ยูนิเซฟและพันธมิตรโครงการโคแวกซ์กำลังเร่งจัดส่งวัคซีนไปยังกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดของโลกอยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตามลำพัง ทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้คือให้ประเทศ G7 แบ่งปันวัคซีนโควิด-19 ส่วนเกินโดยทันทีให้แก่ประเทศที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และประชากรกลุ่มเปราะบางจำเป็นต้องได้รับวัคซีนมากที่สุด และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ดิฉันมาร่วมกับทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟท่านอื่น ๆ ลงนามในจดหมายฉบับนี้ เพื่อขอร้องให้ผู้นำประเทศ G7 ให้คำสัญญาในการประชุมสุดยอดที่อังกฤษในสุดสัปดาห์นี้ เพื่อให้เด็กและครอบครัวในทุกที่ทั่วโลกปลอดภัยจากโควิด 19”
ในตอนท้าย จดหมายเปิดผนึกยังให้เหตุผลว่า “การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญให้ทุกท่านได้ตกลงยินยอมให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พื้นที่ ๆ จำเป็นที่สุดได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด… และขอให้บรรดาผู้นำจัดทำแผนกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกเมื่อโลกมีปริมาณวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยมีการคาดคะเนว่าอาจจะมีวัคซีนถึง 1 พันล้านโดสให้บริจาคได้ภายในสิ้นปีนี้
นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “ประเทศต่าง ๆ ไม่ควรต้องเลือกว่าจะสู้กับโรคร้ายนี้ที่ประเทศของตนหรือช่วยประเทศอื่น ๆ ต่อสู้ แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กันและทำอย่างเร็วที่สุด ซึ่งพวกเราสามารถทำได้”
นางโฟร์ กล่าวต่อไปว่า “ตอนนี้เป็นเวลาสำคัญในการต่อสู้กับโควิด 19 ขณะที่เหล่าผู้นำมาพบกันเพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าจะจัดการกับวิกฤตโควิด-19 อย่างไรในเดือนต่อ ๆ ไปที่กำลังจะมาถึง ดิฉันยินดีที่ได้เห็นผู้สนับสนุนยูนิเซฟจำนวนมากออกมาร่วมเรียกร้องให้เกิดการสนับสนุนโครงการโคแวกซ์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เราสามารถต่อสู้กับวิกฤตนี้ได้ในทุกที่ทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้วการระบาดไม่ได้จำกัดเส้นกั้นพรมแดน การต่อสู้กับเชื้อไวรัสและการกลายพันธุ์จึงไม่ควรต้องจำกัดพรมแดนเช่นกัน”
#####
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.unicef.org/donatedosesletter
จดหมายฉบับเต็ม (แปล)
เรียน ผู้นำกลุ่ม G7
ทั้งโลกใช้เวลาปีครึ่งเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด 19 แต่ไวรัสก็ยังคงระบาดอยู่ในหลายประเทศและกำลังกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์นี้อาจจะพาพวกเราทุกคนถอยหลังกลับไปยังที่เดิม…นั่นหมายความว่าจะมีการปิดเรียนเพิ่มขึ้น เกิดความโกลาหลในระบบสาธารณสุข และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น ซึ่งคุกคามความเป็นอยู่และอนาคตของเด็กและครอบครัวทั่วทุกหนแห่ง
วิกฤติโควิด-19 ไม่จบจนกว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงในทุกพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกชุมชนทั่วโลกจะได้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมโดยทันที การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญให้ทุกท่านตกลงยินยอมให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พื้นที่ ๆ จำเป็นที่สุดได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด
ณ ขณะนี้ องค์การยูนิเซฟได้ลงพื้นที่เพื่อส่งมอบวัคซีนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม แต่ในขณะนี้ โคแวกซ์ยังขาดแคลนวัคซีนอีก 190 ล้านโดสจากเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ผู้คนกลุ่มเปราะบางต้องเสี่ยงต่ออันตรายเนื่องจากขาดวัคซีนคุ้มกัน แม้บางประเทศได้ให้คำมั่นว่าจะบริจาควัคซีนในช่วงปลายปีนี้ แต่วัคซีนจำเป็นต้องใช้แล้ว ณ ขณะนี้
การวิเคราะห์ของยูนิเซฟพบว่ากลุ่มประเทศ G7 จะมีปริมาณวัคซีนมากพอที่จะบริจาควัคซีนของตนร้อยละ 20 ในระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม หรือคิดเป็นจำนวน 150 ล้านโดสได้โดยไม่กระทบแผนการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนของในประเทศตนเอง เราจึงร้องขอให้พวกท่านบริจาควัคซีนอย่างเร่งด่วนภายในเดือนสิงหาคม พร้อมจัดทำแผนกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกเมื่อโลกมีปริมาณวัคซีนเพิ่มขึ้น
มีการคาดคะเนว่าอาจจะมีวัคซีนถึง 1 พันล้านโดสให้บริจาคได้ภายในสิ้นปีนี้ ความหวังของทั้งโลกใบนี้อยู่ที่พวกท่านแล้ว ท่านต้องลุกขึ้นมาช่วยกอบกู้วิกฤตนี้ร่วมกันกับเรา มาร่วมกันสร้างอนาคตที่แข็งแรง สดใส และเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคนและมนุษย์ทุกคน โปรดบริจาค 20 % ของวัคซีนที่มีภายในเดือนสิงหาคมเพื่อปกป้องเราทุกคน และโปรดบริจาควัคซีนทันที
การวิเคราะห์ของแอร์ฟินิตี
การวิเคราะห์ของแอร์ฟินิตีใช้การคาดคะเนจากปริมาณวัคซีนที่ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศ G7 มีและพร้อมใช้ การคาดคะเนปริมาณวัคซีนตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงระหว่างประเทศและผู้ผลิตวัคซีนที่ได้รับการรับรอง นอกจากจะได้รับการระบุว่าเป็นวัคซีนตัวอื่นที่กำลังทดสอบอยู่ในเฟสสาม ตัวเลข 153 ล้านโดสคือจำนวนโดสวัคซีนรวมในกรณีที่ประเทศสมาชิก G7 ตกลงบริจาควัคซีนร้อยละ 20 ของตนในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม 2564 โดยไม่รวมถึงวัคซีนโนวาแวกซ์ (เนื่องจากคาดว่าจะมีข้อจำกัดของบริษัทโนวาแวกซ์)
No comments:
Post a Comment