สำหรับกรุงเทพมหานคร ปริมาณ PM2.5 ยังคงมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่คาดว่าจะเริ่มมีปัญหาเกินมาตรฐานตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ซึ่ง ศกพ. ได้มีการเตรียมการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำ ดำเนินโครงการรถรัฐ ลดมลพิษ ร่วมกับบริษัทรถยนต์ 11 บริษัทดำเนิน “โครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5” รวมถึงรวมกับบริษัท ปทต. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ 3 เขตในกรุงเทพมหานครที่อากาศดีที่สุด ได้แก่ เขตราชเทวี เขตสะพานสูง และเขตหนองจอก โดยมีค่าเฉลี่ย PM2.5 เท่ากับ 25 26 และ 27 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ
สำหรับพื้นที่อื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงมีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
• ปริมณฑล 3 จังหวัดอากาศดีที่สุด ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี PM2.5 เท่ากับ 26 27 และ 31 มคก./ลบ.ม.
• ภาคเหนือ 3 จังหวัด อากาศดีที่สุด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง PM2.5 มีค่า 18 18 และ 19 มคก./ลบ.ม.
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด อากาศดีที่สุด ได้แก่ หนองคาย บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด PM2.5 มีค่า 13 19 และ 20 มคก./ลบ.ม.
• ภาคกลางและตะวันตก 3 จังหวัดอากาศดีที่สุด ได้แก่ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี PM2.5 มีค่า 19 23 และ 25 มคก./ลบ.ม.
• ภาคตะวันออก 3 จังหวัด อากาศดีที่สุด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ตราด PM2.5 มีค่า 18 21 และ 21 มคก./ลบ.ม.
• ภาคใต้ 3 จังหวัด อากาศดีที่สุด ได้แก่ ตรัง สตูล ยะลา โดยทุกจังหวัด PM2.5 มีค่า 8 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้ ศกพ. ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์และยกระดับความเข้มงวดในช่วงที่ฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน อาทิ การเข้มงวดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำ การเร่งรัดระบายการจราจรในช่วงเวลาที่มีรถหนาแน่น ตรวจสอบการระบายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด การเฝ้าระวังและติดตามจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่ง เป็นต้น และขอให้พี่น้องประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากท่านอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณ PM2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ พื้นที่สีส้ม ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง และหากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
โดยท่านสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK ท่านยังสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)
No comments:
Post a Comment