วันที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ติดตามการขับเคลื่อนงานตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยมี นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสิทธิชัย พรทิพย์พิทักษ์ พัฒนาการจังหวัดตาก นายเลิศศักดิ์ ทัพผึ้ง นายอำเภอแม่ระมาด ให้การต้อนรับ และมีนางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรม นางสาวญาดาภา หอมหวล รักษาราชการแทนเลขานุการกรมการพัฒนาชุมชน นายสุมิตร พันเรืองเดช พัฒนาการอำเภอแม่ระมาด นายวิทยา พันธ์ปัญญากรกุล กำนันตำบลพระธาตุ และผู้นำท้องถิ่นท้องที่ร่วมกิจกรรม
นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ รวมทั้งเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งของชุมชน และสนับสนุนและพัฒนาระบบสารสนเทศชุมชน ได้รับมอบหมายให้เป็นทั้งเจ้าภาพหลักและเจ้าภาพร่วมในการดำเนินการนโยบายสำคัญ ๆ ของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของประชาชน โดยขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนภายใต้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และสร้างความสุขของคนไทย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่มีหลักการและแนวคิดที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอดการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความสามารถในการ “ล้มแล้ว ลุกไว” ยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDGs มุ่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่ม บนพื้นฐานของแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จากสถานการณ์ปัจจุบันและสภาพแวดล้อมของการพัฒนาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID - 19) แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก (Global Megatrend) กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในระยะ 5 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเองสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง คนในชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานพัฒนาด้านต่าง ๆ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น Change for Good เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและสามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง จึงได้กำหนด Change for Good Flagship Policy คือ “โครงการตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น โดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นฐานการพัฒนา ภายใต้กลไกเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับตำบล และกลไก 7 ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้นำ กลุ่ม องค์กรภาคีเครือข่ายและประชาชนได้เรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต และนำมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีความเข้มแข็งทั้ง 3 มิติ ด้านความมั่นคง ด้านความมั่งคั่ง และด้านความยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการตำบลสู่ตำบลจัดการตนเองที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนและการใช้ระบบสารสนเทศชุมชน การเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและการส่งเสริมให้มีระบบธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน เพื่อค้นหารูปแบบ วิธีการขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถขยายผลการดำเนินงานได้ครอบคลุมทุกตำบล
โดยที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชน มีการกำหนดพื้นที่ตำบลเป้าหมายในการพัฒนาแล้ว 878 ตำบล และตำบลเป้าหมายได้มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนฯ และการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนการดำเนินงาน “ตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยบูรณาการความร่วมมือกลไก 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยโครงการตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ ประการแรก ตำบลมีการบริหารจัดการชุมชนโดยชุมชน ประชาชนมีอาหารเพียงพอปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง และอยู่ร่วมกันอย่างรู้รัก สามัคคี เกื้อกูล ประชาชนมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย และมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประการต่อมา เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนชุมชนธรรมาภิบาลที่มีการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและชุมชน ประชาชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และประการท้ายสุด ประชาชนในตำบลน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีมีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน มีการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน
ด้าน นายวิทยา พันธ์ปัญญากรกุล กำนันตำบลพระธาตุ กล่าวว่า ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาดได้น้อมนำแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ สามารถสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG-Model) สร้างความยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขยายผลด้วยการรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนให้เติบโตไปด้วยกัน สภาพพื้นที่ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด แต่เดิมมีสภาพแห้งแล้ง เต็มไปด้วยเขาหัวโล้นจากการตัดไม้ทำลายป่า และขาดการดูแลรักษาสภาพป่า ทำให้ป่ามีสภาพทรุดโทรมไม่เหมาะแก่การทำเกษตร อีกทั้งยังประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และปัญหาดินโคลนถล่มในช่วงฤดูน้ำหลาก ต่อมาคนในชุมชนได้รวมกลุ่มกันและร่วมพูดคุยเพื่อหาวิธีทางออกในการแก้ไขปัญหา
โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน โดยได้รับแรงผลักดันจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนที่มีชื่อว่า ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านห้วยกระทิง ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ปัจจุบันศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการพึ่งพาตนเองด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ให้ ซึ่งนับเป็นโชคดีของพสกนิกรชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการในพระราชดำริทั้งปวง ทั้งยังทรงมีพระราชดำริว่า “สิ่งใดที่ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต้องดำเนินการ และขับเคลื่อนต่อไป” ผลลัพธ์ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าในฤดูน้ำหลาก บริเวณชุมชนเชิงเขา ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าหลาก เนื่องจากป่าที่ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างร่วมกันปลูกสามารถชะลอความรุนแรงของน้ำ และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูสภาพความอุดมสมบูรณ์ฟื้นคืนชีวิตให้กับธรรมชาติให้เป็นแหล่งอาหารของทั้งคน และสัตว์ป่าอีกด้วย และตำบลพระธาตุมีผลิตภัณฑ์เด่น คือ ผ้าทอกระเหรี่ยง ของ นางสาวหทัยภัทร พันธ์ปัญญากรกุล ประยุกต์ที่มีการตัดเย็บอย่างส่วนงาม โดย นางสาวหทัยภัทร พันธ์ปัญญากรกุล ผู้ก่อตั้งชุดผ้าทอแบรนด์ CLEE PO มีความสวยงามโดดเด่นและมีความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดตาก และเป็นที่รู้จัดในวงกว้าง มีการจำหน่ายทั้งหน้าร้านและในระบบออนไลน์ มียอดจำหน่ายที่สูง สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาดได้เป็นอย่างดี
ต่อมา เวลา 11.00 น. นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมบันทึกเทปถ่ายทำวีดิทัศน์สารคดีในประเด็นการขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็งฯ ในพื้นที่ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เพื่อออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ต่อไป โดยมีพัฒนาการจังหวัดตาก พัฒนาการอำเภอแม่ระมาด และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนร่วมให้ข้อมูล
No comments:
Post a Comment