สำนักงาน ป.ป.ช. ผลักดันกฎหมายคุ้มครองฟ้องปิดปาก เพื่อคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงแจ้งเบาะแสการทุจริต โดยมุ่งหวังประชาชนจะเกิดความเชื่อมั่นในกลไกทางกฎหมายที่ให้การปกป้อง คุ้มครอง และยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ... เป็นกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ขับเคลื่อนเพื่อเป็นกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะอันจะนำไปสู่การตรวจสอบการทุจริต เช่น การแจ้งเบาะแสการทุจริต และการให้ข้อมูลการบุกรุกสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น ซึ่งมักจะถูกผู้สูญเสียประโยชน์นำกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือโดยมิชอบ ด้วยการ “ฟ้องปิดปาก” (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) ซึ่งปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการแล้ว และผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเรื่องเสร็จที่ 1501/2565 หลังจากนั้นจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วจึงจะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป
โดยกฎหมายที่ ป.ป.ช. ผลักดันฉบับนี้มีวัตุประสงค์สำคัญเพื่อ “มุ่งคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปง แจ้งเบาะแสการทุจริต” ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้จากหลายกรณีว่าผู้ที่ร้องเรียน หรือเปิดโปงกรณีทุจริตหลายรายจะพบเจอกับการต้องตกเป็นจำเลยถูกฟ้องกลับ ทำให้ผู้ที่มีเบาะแสการทุจริต ไม่อยากเสียเวลาที่ต้องสุ่มเสี่ยงเกิดเป็นคดีความที่มีระยะเวลายาวนานในการพิจารณาคดี ดังที่เป็นตัวอย่างในปัจจุบัน เช่น กรณีผู้รับเหมาถูก ผู้อำนวยการวิทยาลัยดังในอำเภอธัญบุรี นำข้อมูลและพยานหลักฐานการเรียกรับสินบนไปร้องต่อ ป.ป.ท. แต่สุดท้ายต้องกลายเป็นจำเลยถูกขู่ฟ้องกลับ ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามว่า “ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประชาชนผู้ร้องเรียนจะได้รับการคุ้มครอง”
ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นการกำหนดกลไกส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามกฎหมาย โดยกำหนดให้คุ้มครองแก่บุคคลที่ได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล หรือมีการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำของพนักงานของรัฐหรือบุคคลใดอันเป็นที่มาของการสอบสวน การตรวจสอบ หรือการไต่สวนในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ และบุคคลดังกล่าวตกเป็นเหยื่อจากการถูกนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือโดยมิชอบ หรือกลั่นแกล้งด้วยวิธีการฟ้องคดีปิดปาก ไม่ว่าจะเป็นการถูกฟ้องคดีในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง รวมถึงการดำเนินการทางวินัย ทั้งยังเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565) แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2565) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC) อีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. เชื่อว่า หากกฎหมายคุ้มครองฟ้องปิดปากมีผลบังคับใช้แล้ว ประชาชนจะเกิดความเชื่อมั่นในกลไกทางกฎหมายที่ให้การปกป้อง คุ้มครอง และยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น ตลอดจนจะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นในการดำเนินงานต่อต้านการทุจริตของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง
No comments:
Post a Comment