โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ภัยร้ายใกล้ตัว ติดเชื้อถึงตาย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน - ASEAN All News

ASEAN All News

ข่าวสารอัพเดท ทันทุกเทรนด์โลก รอบรั้วอาเซียน

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, March 7, 2024

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ภัยร้ายใกล้ตัว ติดเชื้อถึงตาย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน


โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และยังติดต่อมาสู่มนุษย์ พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด คือ สุนัข 95 % รองลงมาคือ แมว 4 % สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ สุกร ม้า และสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมราว 1 % ซึ่งบทความให้ความรู้โดย นพ.ปรเมศวร์ วงศ์ประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับอาการ การปฎิบัติตัวเมื่อถูกสัตว์กัด และการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อจะได้สังเกตตนเองและคนรอบข้าง สามารถนำไปสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที 


อาการของโรคพิษสุนัขบ้า

หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ - 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการแสดงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผล รวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด


ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการ เจ็บ คล้ายเข็มทิ่ม หรือคันบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน


ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะเป็นมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

การปฏิบัติตัวเมื่อถูกสัตว์กัด

ล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผล และล้างให้ลึกถึงก้นแผล ใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน บริเวณแผล สังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า สังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 7 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นําซากไปตรวจ


พบแพทย์พร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักไปด้วย ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์จะให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และยาฆ่าเชื้อ  


ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง หรือแผลอยู่ในตำแหน่งใกล้ศีรษะ แพทย์จะพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลิน ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 3-5 ครั้ง วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพสูง หากไปรับการฉีดตรงตามแพทย์นัดทุกครั้ง


การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยมีแนวทางในการป้องกัน ดังนี้

  • พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนดทุกปี
  • ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ 
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัดโดยไม่แหย่ หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
  • ถ้าโดนสัตว์กัดหรือมีแผลรีบล้างแผลแล้วไปพบแพทย์เพื่อดูแลให้ถูกต้องต่อไป 


ทั้งนี้โรคนี้เกิดจากเชื้อ Rabies virus ซึ่งเป็น RNA virus การติดเชื้อที่สำคัญ คือการถูกสัตว์กัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก นอกจากนี้การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 Line: @navavej

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages