กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 27 กันยายน 2567 : การระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2021 ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ สัตว์ปีกมากกว่า 280 ล้านตัวต้องตายลง สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างก็ตกเป็นเหยื่อของโรคร้ายนี้ และที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่กระจายสู่มนุษย์ ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล (Sinergia Animal) องค์กรพิทักษ์สัตว์ชั้นนำระดับโลก เห็นว่าสาเหตุหลักของวิกฤตครั้งนี้มาจากระบบการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มักจะแออัดและไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ รวมถึง “ไข้หวัดนก”
“ไข้หวัดนก” วิกฤตเงียบระดับโลกที่ถูกมองข้ามไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1996 ที่ฟาร์มห่านในประเทศจีน ตั้งแต่นั้นมาไวรัสได้แพร่กระจายไปทั่วโลกและกลายเป็นภัยอันตรายมากขึ้น ไวรัสร้ายนี้ไม่เพียงแต่ฆ่าสัตว์ปีกนับล้านตัว และส่งผลกระทบต่อสัตว์ปีกทั่วโลกอย่างน้อย 485 สายพันธุ์ รวมถึงนกกระทุงดัลเมเชีย (Dalmatian Pelican) ถึงร้อยละ 40 ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 48 สายพันธุ์ รวมถึงสิงโตทะเลและช้างน้ำในทวีปอเมริกาใต้ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 นี้กำลังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศทั่วโลก
คุณชิสากัญญ์ อารีพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสาร จากซิเนอร์เจีย แอนนิมอล กล่าวว่า “ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่าทั่วโลกควรให้ความสนใจกับวิกฤตนี้อย่างเร่งด่วน แม้ปัจจุบันเชื้อไข้หวัดนกจะยังไม่แพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ง่าย แต่ไวรัสมีความสามารถในการกลายพันธุ์สูงและอาจกลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อมนุษย์ เช่นเดียวกับ COVID-19 จนถึงขณะนี้มีอัตราการเสียชีวิตในมนุษย์ที่ติดเชื้อจากไข้หวัดนกแล้วถึงร้อยละ 50 ซึ่งอันตรายกว่า COVID-19 ที่มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1.7 องค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ (UN) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ต่างตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไข”
ฟาร์มอุตสาหกรรมคือแหล่งเพาะเชื้อโรค
การระบาดของไข้หวัดนกเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2024 และได้แพร่กระจายไปยังฟาร์มโคนมหลายร้อยแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา การทำฟาร์มอุตสาหกรรมมีสภาพแออัดและไม่ถูกสุขอนามัย ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ อย่างเช่น ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อสัตว์จำนวนมากอาศัยอยู่ด้วยกันในพื้นที่แคบที่ขาดมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่ดี ก็ยิ่งสร้างสภาพที่เอื้อให้เชื้อโรคเจริญเติบโตเร็วขึ้น
งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ให้เห็นว่า การทำฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆ และแนะนำให้ลดการทำฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่จำกัด การใช้ยาปฏิชีวนะ และการจัดการมูลสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดและแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคปากและเท้าผุ และเชื้อดื้อยา ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สนับสนุนผลการวิจัยนี้ และเตือนว่า หากยังคงดำเนินการผลิตอาหารแบบเดิมต่อไป โลกจะต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน
ความพยายามระดับสากลในการต่อสู้กับเชื้อไข้หวัดนก H5N1
หลายประเทศกำลังเผชิญกับผลกระทบวิกฤตของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 โดยประเทศในทวีปเอเชีย เช่น กัมพูชา จีน และเวียดนาม พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในสัตว์ปีกและคนเพิ่มขึ้น ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมการแพร่กระจายโรค
การระบาดของไข้หวัดนกในปี 2546 ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมไก่ในประเทศไทย จำเป็นต้องกำจัดสัตว์ปีกกว่า 62 ล้านตัว กระตุ้นให้เกิดการปรับโครงสร้างฟาร์มเป็นระบบมากขึ้น มีการปรับตัวสู่ระบบการผลิตที่ทันสมัยพร้อมมาตรการความปลอดภัยทางชีวภรพที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังคงเตือนถึงความเสี่ยงจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น"
หยุดภัยคุกคามจากฟาร์มอุตสาหกรรม รากเหง้าของปัญหาโรคระบาด
ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล เรียกร้องให้สังคมร่วมกัน ลด การพึ่งพาฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการระบาดของโรคระบาดต่างๆ และให้มีการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์มีมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวดขึ้น โดยการเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน เช่น การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และการบริโภคพืชผักมากขึ้นซึ่งดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับโลก
"วิกฤตไข้หวัดนกเป็นสัญญาณเตือนให้เราเห็นถึงอันตรายจากการทำฟาร์มอุตสาหกรรม การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มขนาดใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคระบาด เราควรหยุดระบบอาหารที่เป็นอันตรายและหันมาสนับสนุนระบบอาหารที่มีจริยธรรมและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อปกป้องด้านสาธารณสุขและความหลากหลายทางชีวภาพ" คุณชิชากัญญ์ กล่าวเสริม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของซิเนอร์เจีย แอนนิมอล (Sinergia Animal) เพื่อต่อต้านการทำฟาร์มอุตสาหกรรมได้ที่ Stop Financing Factory Farming
No comments:
Post a Comment