สสว. และ สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมลงนามเอ็มโอยู เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ภายใต้แนวคิด “Next Level SME: ปลดล็อกกฎหมาย ลดภาระ สร้างโอกาส เพื่อ เอสเอ็มอีไทย
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สสว. และ สำนักงาน ป.ย.ป. ว่า ความร่วมมือครั้งนี้ กำหนดแนวทางการพัฒนาไว้ใน 3 มิติหลัก ได้แก่ 1. การปลดล็อกกฎหมาย กฎหมายและระเบียบหลายฉบับที่ยังล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ที่เปลี่ยนไป บางข้อกำหนดมีความซับซ้อน ทำให้เอสเอ็มอีต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ไม่จำเป็น ความร่วมมือนี้จะช่วย ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายให้กระชับขึ้น คล่องตัวขึ้น และสอดรับกับโลกธุรกิจยุคใหม่ 2. การลดภาระ เนื่องจากเอสเอ็มอี มักใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากไปกับขั้นตอนทางกฎหมายที่ซับซ้อน ตั้งแต่การขออนุญาตจดทะเบียนธุรกิจไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ข้อตกลงนี้จึงมุ่งลดเงื่อนไขที่ยุ่งยาก ลดต้นทุนแฝง และเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และ 3. การสร้างโอกาส การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
“อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่การพัฒนากลไกช่วยเหลือ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมให้ ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการขยายธุรกิจ"
รักษาการ ผอ.สสว. เผยอีกว่า เอสเอ็มอีคือฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจไทย คิด เป็นกว่า 35% ของ GDP และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของประเทศ สร้างงานกว่า 12.8 ล้านตำแหน่ง คิดเป็น สัดส่วนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานรวมในประเทศ ทั้งยังช่วยกระจายรายได้สู่ครัวเรือนและชุมชนต่าง ๆ ทั่ว ประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มีความคล่องตัวและปรับตัวได้เร็วกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แต่ที่ผ่านมากฎหมายและกฎระเบียบหลายฉบับ ยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ สสว. จึงต้องเร่งปรับปรุงและทำให้กฎหมายเหล่านี้เอื้อต่อการเติบโตของเอสเอ็มอีมากขึ้น
นางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เผยว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการผลักดันเอสเอ็มอีที่มีความต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี เพื่อหนุนแข่งขันได้ในเวทีโลก
“ภายใต้บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ สสว. และ สำนักงาน ป.ย.ป. จะเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เป็น ระยะเวลา 3 ปี จะมีการประเมินและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและ ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”
บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายเพื่อให้ SME ไทย สามารถดำเนินธุรกิจได้สะดวกขึ้น ลดข้อจำกัดที่ไม่จำเป็น และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจ ได้อย่างเต็มศักยภาพ
No comments:
Post a Comment