สสว. จับมือ มศก. เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการ MSME ไทย ให้ปรับตัวตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และมาตรฐานการค้าสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ยกศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทยให้พร้อมสู่สากล และอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกได้ โดยไม่ถูกกีดกันทางการค้า ผ่านโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญและภาครัฐ หวังช่วยให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษกิจได้ถึง 270 ล้านบาท
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “สสว. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการปรับตัวเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ตอบสนองต่อมาตรฐาน/การกีดกันทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ประกอบกับการที่สหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มาตั้งแต่ปี 2015 ภายใต้แนวคิดนี้ สสว. จึงริเริ่มดำเนินโครงการขับเคลื่อนให้ MSME ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ตอบสนองต่อมาตรฐาน/การกีดกันทางการค้า เพื่อผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สร้างความตระหนักรู้สู่มาตรฐาน และผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมทั้ง การประเมินศักยภาพธุรกิจตามแนวคิดธุรกิจสีเขียวด้วยแบบประเมินตนเอง Green SME Index ซึ่งเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ 2566 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว”
นางสาวปณิตา กล่าวต่อไปว่า “การดำเนินโครงการดังกล่าว สสว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีการวางแผนและดำเนินการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่อเผยแพร่มาตรฐานนานาชาติที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ สามารถเตรียมความพร้อมช่วงเปลี่ยนผ่านให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานทางการค้า และแนวทางในการปรับตัวให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy รวมถึงการให้คำปรึกษาธุรกิจเชิงลึก ณ สถานประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพ SME ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตและเข้มแข็งยิ่งขึ้น”
นางสาวปณิตา เผยด้วยว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ผ่านมา สสว. ได้มีการผลักดัน หนุนเสริม ผู้ประกอบการ สร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งการให้มีการประเมินศักยภาพธุรกิจตามแนวคิดธุรกิจสีเขียว สสว. โดยมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงผู้ให้บริการเศรษฐกิจสีเขียวกับ MSME ผลักดันและส่งเสริม MSME ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ส่งผลต่อรายได้ในการดำเนินธุรกิจของ SME ทำให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม และประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน
“สำหรับรอบปีงบประมาณนี้ สสว. ได้จัดให้มีโครงการขับเคลื่อนให้ MSME ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ตอบสนองต่อมาตรฐาน/การกีดกันทางการค้า ประจำปี 2568 ขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันในเศรษฐกิจสีเขียวให้แก่ MSME อย่างเข้มข้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเรากำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลภาวะ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ มาตรฐานและกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และ กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป หรือ European Union Deforestation Regulation (EUDR) ที่บังคับใช้ในยุโรป ล้วนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปฏิบัติตามมาตรฐานการค้าใหม่”
“แม้กฎเกณฑ์เหล่านี้อาจมองว่า เป็นอุปสรรคทางการค้า แต่เรามองว่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย และนับเป็นโอกาสสำคัญ ที่เราจะผสานพลังกันผลักดันให้ MSME ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของระบบเศรษฐกิจโลก รีบพัฒนาตัวเองให้เป็นธุรกิจ สีเขียว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน “ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ สสว.จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ MSME ของไทย โดยจัดให้มีจุดบริการให้คำปรึกษา MSME ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคใต้ เน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มเกษตรแปรรูปและอาหารที่เป็นภาคการผลิต และกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม ที่เป็นภาคบริการ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในปัจจุบัน เพื่อนำเสนอแนวทางการในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ MSME”
รักษาการแทน ผอ.สสว. ยังเผยด้วยว่า โครงการนี้ สสว. พร้อมจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้แก่สถานประกอบการ โดยจะมีที่ปรึกษาเข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกแบบ On-the-Job Training จำนวน 5 วัน เพื่อวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสนอแนะแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่สถานประกอบการ นอกจากนั้น จะมีการอบรมให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องอีก 2 วัน โดยจัดตามภูมิภาคต่างๆ อีก 6 ครั้ง รวมทั้งการประเมินศักยภาพความเป็นธุรกิจสีเขียวผ่านเครื่องมือประเมินตนเองที่เรียกว่า Green SME Index เพื่อวิเคราะห์ความพร้อมและโอกาสทางธุรกิจ และเพื่อให้ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้
“เราเชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการนี้ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษกิจได้ถึง 270 ล้านบาท นางสาวปณิตา ทิ้งท้าย”
ช่องทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
: นางสาวกฤติญา เทพสุทธิ์ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs
โทร. 081 530 7670 / 02 142 9108 อีเมล krittiya@sme.go.th
: นายเจริญไชย จารุกะกุล ส่วนสื่อสารองค์กร
โทร. 081 615 5450 / 02 142 9041 อีเมล charoenchai@sme.go.th
มหาวิทยาลัยศิลปากร
: นายธนบรรณ แก้วไทยหาญ โทร. 081 258 3766 อีเมล silpakornecientech@gmail.com
: ผศ.ดร.วรฤทัย ชูเทียร โทร. 093 562 9244 อีเมล choothian_w@su.ac.th
: ผศ.ดร.ทสพล เขตเจนการ โทร 081 398
8351 อีเมล katejanekarn_t@su.ac.th
No comments:
Post a Comment