ช่วงนี้...มีข่าวเกี่ยวกับ “องค์กรอัยการ” ซึ่งเป็นหน่วยงานทางกระบวนการยุติธรรมขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็นข่าว “ปปช. ปปท. ตำรวจ บุกจับ อัยการ คาห้องทำงาน” หรือ “ข่าวอัยการเก๊” ทำให้นึกถึง พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้ง “คนดี” และ “คนไม่ดี” ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังคงทันสมัย และใช้ได้อยู่เสมอ
หากเปรียบ “องค์กรตำรวจ” เป็น ต้นทางแห่งสายธารความยุติธรรม “องค์กรอัยการ" ก็ถือได้ว่าเป็น “กลางสายธาร” แห่งกระแสความยุติธรรมองค์กรอัยการ เป็นองค์กรอันเป็นที่พึ่งด้านกฎหมายของรัฐและประชาชน ปีนี้องค์กรอัยการ ครบรอบ 131 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาทุกองค์กร ย่อมมีทั้ง “คนดี” และ “คนไม่ดี” คนไม่ดีย่อมต้องถูกกำจัดให้สิ้น
มาดูเรื่องดีดีที่ “องค์กรอัยการ” ภายใต้การนำของ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ได้ทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวน (เพิ่มเติม) โดยทำให้ “การสอบสวนรวดเร็วขึ้นได้ประเด็นถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น” ไม่ต้องสอบสวนแล้วสอบสวนอีก หรือรอแล้ว รอเล่า ยังไม่ได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน ซึ่งก็น่าเห็นใจ พนักงานสอบสวน ซึ่งมีภาระงานด้านการสอบสวนมากมาย จำนวนพนักงานสอบสวนไม่สอดคล้องกับปริมาณคดีอาญาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบัน คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คดีหลอกลวงออนไลน์ เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายมากมาย
แต่การดำเนินคดีที่ล่าช้า (สอบสวนล่าช้า สรุปสำนวนและเอกสารส่งพนักงานอัยการล่าช้า) “กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ย่อมถือได้ว่าเป็นการไม่ยุติธรรม” ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567สำนักงานอัยการสูงสุด โดย นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้ออกหนังสือเวียนสั่งการ ที่ อส 0007(ปผ)/ว 280 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เรื่องชักซ้อมแนวทางการพิจารณา สั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อชักถาม “กรณีพนักงานสอบสวน สอบสวนล่าช้าส่งผลล่าช้า ให้พนักงานอัยการเรียกตัวพยานมาสอบได้”
หลักการและเหตุผลในการออกหนังสือเวียนสั่งการดังกล่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน “ด้วยการพัฒนาคุณภาพงานสอบสวนคดีอาญาของพนักงานอัยการ” โดยยึดมั่นและยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคมและประชาชน ซึ่งการเร่งรัดสำนวนที่ พนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถาม จะทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม ที่รวดเร็ว ไม่ล่าช้า
ดังนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การพิจารณาสำนวนคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม สังคมและประชาชนเชื่อมั่น และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงได้ออกหนังสือเวียนสั่งการ ชักซ้อมแนวทางการพิจารณา สั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือ สั่งให้ส่งพยานมาชักถาม ในกรณีที่ “พนักงานสอบสวนส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมล่าช้า” หรือ “ได้ความไม่ชัดแจ้งครบถ้วนตามประเด็นที่พนักงานอัยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติม
หากพนักงานอัยการเห็นว่า การสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามตามข้อ 35 และข้อ 36 ของระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 จะได้ความชัดแจ้งและ รวดเร็วกว่าการสอบสวนเพิ่มเติม ให้พนักงานอัยการมีความเห็นและคำสั่งในแบบ อ.ก. 4 โดยให้ “หัวหน้าพนักงานอัยการ” เป็นผู้พิจารณาสั่ง
และมีหนังสือสั่ง “ให้พนักงานสอบสวนส่ง พยานคนใด มาให้ซักถามตามรูปคดี โดยในการซักถามพยาน พนักงานอัยการ จะต้องกระทำร่วมกับ “หัวหน้าพนักงานอัยการ” หรือ “พนักงานอัยการที่มีอาวุโสถัดจากหัวหน้าพนักงานอัยการ ลงมาตามลำดับ และในกรณีที่ที่พนักงานสอบสวนประสงค์จะขอฟังการชักถามด้วยก็ให้เปิดโอกาสให้ฟังได้ โดยให้พนักงานอัยการผู้ซักถาม บันทึกถ้อยคำของพยาน” ที่ซักถามในแบบ อ.ก. 22 ตามแบบและวิธีการที่บัญญัติไว้...ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 มาตรา 11 และมาตรา 13 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยอนุโลม
ทั้งนี้ พนักงานอัยการต้องดำเนินการในกรณีดังกล่าวด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรมจากหนังสือเวียนสั่งการฉบับดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นการแก้ไขปัญหา : จากเดิมที่ เมื่อพนักงานอัยการ เห็นว่าสำนวนการสอบสวนที่ได้รับจากพนักงานสอบสวน มีข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ จึงได้ใช้อำนาจตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 ถึง มาตรา 143 สั่งให้ พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงให้เพียงพอที่จะ “สั่งฟ้อง” หรือ “สั่งไม่ฟ้อง” (แล้วแต่กรณี) แต่เมื่อ พนักงานอัยการ สั่งสอบสวนเพิ่มเติมไปแล้ว แต่พนักงานสอบสวนก็ยังคงไม่ได้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาให้ พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี จนเวลาล่วงเลยมานานมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีที่มีกำหนดเวลาฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล และหากครบกำหนดฝากขังต่อศาลครั้งสุดท้าย แล้ว แต่พนักงานสอบสวน ยังไม่ได้จัดส่ง ผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาให้พนักงานอัยการ รวมถึง กรณีส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาแล้ว แต่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวน ยังคงสอบสวนไม่ครบถ้วนตามประเด็นที่พนักงานอัยการได้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมไป ทำให้ พนักงานอัยการ ไม่อาจสั่งสำนวนคดีไปได้
การสั่งคดี และการดำเนินคดีที่ยังมีข้อเท็จจริงที่ยังไม่ครบถ้วน :
อาจส่งผลทำให้ ถูกคู่ความฝ่ายตรงข้าม ซักค้าน โต้แย้งได้ และอาจนำไปสู่การถูกศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย และพิพากษา“ยกฟ้อง” ได้ รวมถึงการต้องสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาไปก่อน เนื่องจากยังไม่สามารถพิจารณาสั่งสำนวนคดีได้ และอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องเนื่องจากหลบหนีไปได้
การที่ อัยการสูงสุด ออกหนังสือเวียนฉบับนี้มาซักซ้อมความเข้าใจให้กับ พนักงานอัยการทั่วประเทศ และผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเปิดโอกาสให้ “พนักงานอัยการ” ได้มีหนังสือสั่ง “ให้พนักงานสอบสวนส่ง พยานคนใด มาให้พนักงานอัยการเพื่อซักถามตามรูปคดี โดยในการซักถามพยานนั้น พนักงานอัยการ จะต้องกระทำร่วมกับ “หัวหน้าพนักงานอัยการ” หรือ “พนักงานอัยการที่มีอาวุโสถัดจากหัวหน้าพนักงานอัยการ ลงมาตามลำดับ (เพื่อให้ช่วยควบคุมการสอบสวนให้ถูกต้อง ครบถ้วนในประเด็นแห่งคดี) และ ในกรณีที่ที่พนักงานสอบสวนประสงค์จะขอฟังการชักถามด้วยก็ให้เปิดโอกาสให้ฟังได้ (เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความโปร่งใส) บางครั้งพบว่า พยานบางปาก ไม่กล้า และ/ หรือไม่เชื่อมั่นในพนักงานสอบสวน หากแต่ประสงค์จะให้ข้อมูลและรายละเอียดกับพนักงานอัยการ มากกว่า
หนังสือเวียนฉบับนี้จึงเป็นการยืนยันว่าพนักงานอัยการ สามารถจะให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน โดยการเร่งรัดการสอบสวน (เพิ่มเติม) ด้วยการอาจเรียกพยานมาสอบเอง เพื่อให้รวดเร็วและได้ประเด็นครบถ้วน ไม่ต้องสอบแล้ว สอบอีก หรือพยานได้ให้การไว้แต่พนักงานสอบสวนมิได้บันทึกคำให้การให้ ทั้งอาจจะตั้งใจ และไม่ตั้งใจก็ตาม
ดังนั้น เมื่อ พนักงานอัยการ ได้สอบสวนพยานด้วยตนเอง ก็จะทำให้รับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานถูกต้อง ครบถ้วนและรวดเร็วเท่าใด พนักงานอัยการ ก็สามารถพิจารณาสั่งสำนวนคดีได้เร็วเท่านั้น ไม่ว่าจะ “สั่งฟ้อง” หรือ “สั่งไม่ฟ้อง” ก็แล้วแต่ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในสำนวนคดี “กระบวนการยุติธรรม ที่ล่าช้า อาจเป็นความไม่ยุติธรรม” มาถึงบรรทัดนี้ หวังว่า ท่านคงจะทราบแล้วว่า สังคมจะได้อะไรจาก การให้ความเป็นธรรมจาก สำนักงานอัยการสูงสุดด้วยการ ”เร่งรัดการสอบสวน” ด้วยการ ขอให้พนักงานสอบสวนส่งพยานมาให้ พนักงานอัยการสอบสวนเพิ่มเติม (ซักถามพยาน) เอง ภายใต้การควบคุมและกำกับของ ”หัวหน้าพนักงานอัยการ”
ความจริง “การสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถาม” นั้น ปรากฏอยู่ในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563ข้อ 35 และข้อ 36 แล้วแต่หนังสือเวียนของสำนักงานอัยการสูงสุด ฉบับนี้จะเป็นการ ตอกย้ำให้เห็นว่า องค์กรอัยการ ยังคงเป็นที่พึ่งแห่งความยุติธรรมให้กับประชาชนได้
ส่วน ”คนไม่ดี” หรือ “กาฝากอัยการ” จะต้องถูกกำจัดให้ออกไป
• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ (อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมการธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ 25) 6 สิงหาคม 2567
No comments:
Post a Comment