จี้รัฐบาลต้องเอาจริงในการบังคับใช้ ข้อตกลงคุณธรรม แนะรัฐจัดงบสนับสนุน เพื่อความยั่งยืนในการต้านทุจริต - ASEAN All News

ASEAN All News

ข่าวสารอัพเดท ทันทุกเทรนด์โลก รอบรั้วอาเซียน

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, November 17, 2020

จี้รัฐบาลต้องเอาจริงในการบังคับใช้ ข้อตกลงคุณธรรม แนะรัฐจัดงบสนับสนุน เพื่อความยั่งยืนในการต้านทุจริต

 


‘วิชา มหาคุณ’ จี้รัฐบาลต้องเอาจริงในการบังคับใช้ ข้อตกลงคุณธรรม หลังพบหน่วยงานรัฐถอนตัวไม่เข้าร่วม ระบุการไม่ปฏิบัติเท่ากับ ล้มเหลว ถดถอยต้านทุจริต ด้านประธานทีดีอาร์ไอ แนะรัฐจัดสรรงบสนับสนุนภาคประชาชนเพื่อความยั่งยืนของโครงการข้อตกลงคุณธรรม 


ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ข้อตกลงคุณธรรม : ต้านโกง โปร่งใส ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ” จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ว่า การจะเปลี่ยนการให้สินบนได้ในช่วงข้ามคืนเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสัญญาณว่า ผู้ให้คำมั่นปรารถนาที่จะขับเคลื่อนสังคมที่ปราศจากการทุจริตโดยส่งข่าวสารว่าเราจะมุ่งไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม Better Society สะอาด โปร่งใส 2 คำนี้ที่เรียกว่าเป็นจิตวิญญาณของข้อตกลงคุณธรรม ถ้าทุกฝ่ายมีเจตจำนงที่ผมเรียกว่า Political Will โดยเฉพาะรัฐบาล รัฐบาลต้องแน่วแน่ว่า ออกกฎหมายมาแล้วต้องสนับสนุนทำให้การปฏิบัติงานได้ผล ไม่ใช่ว่าล้มลุกคลุกคลาน แล้วก็หมดแรงไปเอง 

“เมื่อกำหนดมาว่าจะมีข้อตกลงในด้านคุณธรรมแล้ว บางองค์กรภาครัฐถอนตัวออกดื้อๆ ช่วยฟ้องประชาชนทีว่ามีองค์กรไหนบ้าง สะท้อนว่าไม่ใช่เฉพาะการล้มเลิกอย่างเดียวแต่แสดงให้เห็นถึงความถดถอยทางด้านของคำมั่นสัญญาที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมที่ปราศจากการทุจริตอีกด้วย” ศ.พิเศษ วิชา กล่าว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการนำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆนั้น มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จริง โดยผลศึกษาของทีมวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า ส่งผลให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณถ้าโครงการไหนมีการแข่งขันมาก ราคาก็ลดจากราคากลางได้มาก เช่น ถ้าแข่งขันโดยใช้วิธีอี-บิดดิ้ง ไม่ใช้วิธีจัดจ้างวิธีพิเศษ จะสามารถลดราคาจากราคากลางลงได้ 12% แต่ถ้านำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ร่วมด้วยจะลดราคาลงได้อีก 14% หรือรวม 26% ทำให้ที่ผ่านมาภาครัฐประหยัดงบประมาณได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปี (2558-62) หรือประหยัดได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท 

“ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์เรื่องการต้านโกง ทั้งในด้านหลักคิด และหลักฐานเชิงประจักษ์ อีกทั้งในแง่ผลตอบแทนด้านการเงินในการดำเนินการก็มีความคุ้มค่าสูงมาก จึงมีความเห็นว่าควรทำให้ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเสนอให้จัดสรรงบประมาณจากภาครัฐมาสนับสนุน


โครงการข้อตกลงคุณธรรมประมาณร้อยละ 0.5 จากวงเงินที่ประหยัดไปได้ปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

พล.อ.ต. ม.ล.ประกิตติ นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า ปัญหาที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างมีหลายเรื่อง จึงต้องนิยามให้ชัดเจนว่า การทุจริต คือ การรับสินบนอย่างเดียว หรือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายด้วย เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าเป็นเรื่องการผิดระเบียบ ซึ่งทำให้คนไม่กล้าทำงาน จึงต้องหาวิธีตรวจสอบและแยกระหว่างคนทุจริตกับคนทำผิดระเบียบออกจากกัน จะเห็นว่าพอมีกติกาใหม่ออกมา ก็จะมีคนหาวิธีที่จะไม่ปฏิบัติตามกติกาใหม่ เลี่ยงกติกาใหม่ ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาถึงขั้นที่ว่าโกงได้ โดยไม่ผิดระเบียบ อยากย้ำว่าถ้ามีการทุจริต ไม่ได้เสียแค่วงเงินที่มีการทุจริตหรือมีการรับหรือจ่ายสินบน ความเสียหายมากกว่านั้น 

“นอกจากได้สิ่งของที่ไม่คุ้มค่าแล้วเราต้องทนใช้และยังเสียโอกาสที่จะได้ใช้ของดีๆ ด้วย ดังนั้นอยากให้เพิ่มบทบาทผู้สังเกตการณ์ในโครงการข้อตกลงคุณธรรมเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวกับการดำเนินโครงการทั้งโครงการไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้ย” พล.อ.ต. ม.ล.ประกิตติกล่าว

น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ด้านการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และอดีตผอ.การยาสูบ กล่าวว่า โรงงานยาสูบได้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรของโรงงาน ซึ่งทำให้ประหยัดงบได้ 31% และปัจจุบันโรงงานยาสูบได้นำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้กับอีกหลายโครงการ ผลของการเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในองค์กร ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร โดยเน้นการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับ Young Blood ด้วยและเห็นผลตอบรับที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม 

“การมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดูการทำงานในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร ช่วยทำให้ทำงานได้สบายใจขึ้น ที่สำคัญคือผลของการเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในองค์กร สร้างวัฒนธรรมใหม่ในองค์กรภาครัฐ ให้พร้อมรับการตรวจสอบอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะสัญญาณที่ดีจากพนักงานที่เป็นเลือดใหม่ที่จะสืบทอดวัฒนธรรมใหม่นี้สืบต่อไปด้วย” น.ส.ดาวน้อย กล่าวย้ำ

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้าน คอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่วาย้ำว่า ข้อตกลงคุณธรรม เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดอันหนึ่ง และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้นมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ และเห็นด้วยกัยแนวคิดของดร.สมเกียรติฯ ในการจัดสรรงบประมาณ 0.5% จากงบประมาณที่ประหยัดได้ปีละ 10,000 ล้านบาทมาเป็นงบประมาณในการสนับสนุนภาคประชาชนเพื่อความยั่งยืนของโครงการข้อตกลงคุณธรรม. 

“ข้อตกลงคุณธรรม นอกจากเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตภาครัฐแล้ว ยังนับเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และที่สำคัญที่สุดคือ บทเรียนจากการขับเคลื่อนโครงการข้อตกลงคุณธรรมนี้สามารถนำไปใช้ปฏิรูประบบราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของภาครัฐได้เป็นอย่างดี”นายวิชัยกล่าว

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อสังเกตของผู้สังเกตการณ์อิสระที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม 1 โครงการ คือ การจัดซื้อดาวเทียมของ GISTDA จากโครงการที่เข้าร่วมทั้งหมด 118 โครงการ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ แต่ต่อไปนี้องค์กรฯจะพยายามผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อสังเกตการณ์ให้มากขึ้น

สำหรับโครงการข้อตกลงคุณธรรมนั้น (Integrity Pact ) เป็นเครื่องมือที่ องค์กรโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International – TI) สร้างขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อตกลงคุณธรรมในประเทศไทย เกิดจากการร่วมมือขององค์กรภาคเอกชน ผลักดันการออกพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 และระบุให้เป็นเครื่องมือที่จะให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558 และจนถึงปัจจุบันมีโครงการมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมทั้งสิ้น 118 โครงการ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 63 โครงการ คิดเป็นงบประมาณรวม 1.84 ล้านล้านบาท และทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณได้ 82,796 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.06% ของงบประมาณดังกล่าว

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages