หากนึกถึงทุเรียน ทุเรียนชื่อดังก็มักจะพ่วงด้วยชื่อของแหล่งกำเนิด อย่าง ทุเรียนนนท์ ทุเรียนปราจีนฯ ทุเรียนจันท์ หรือในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ หรือทุเรียนหลงลับแล ได้กลายมาเป็นที่คุ้นหูและเป็นที่จดจำ ทว่าทุเรียนจากแหล่งแดนใต้ กลับไม่ค่อยมีชื่อเป็นจดจำนักในตลาดผู้บริโภค
“บาตามัส” ของดีแดนใต้ ส่งออกเกือบ 100%
บาตามัส เป็น ภาษามลายู แปลว่าทุเรียนหมอนทอง โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดอันได้แก่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ถือเป็นแหล่งสำคัญในการเพาะปลูก โดยที่ผ่านมาอาจไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทยนัก เพราะเกือบ 100% ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน นายเอกพล เพ็ชรพวง ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ กล่าวในงานมหกรรมเปิดบ้านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ ว่า “ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายเกษตรกรมีการยกระดับคุณภาพของทุเรียนบาตามัสอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ เน้นให้ผลผลิตมีลักษณะหนามเขียว ไม่มีหนอน จนกระทั่งทุเรียนได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ในเครือข่ายทุเรียนบาตามัสคุณภาพ มีพื้นที่ปลูกรวมอยู่ราว 500 ไร่ ปลูกโดยเกษตรกร 253 ครัวเรือน ที่รวมตัวกันเป็น 20 วิสาหกิจชุมชน ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถทำรายได้เมื่อปี 2565 ได้มากกว่า 18 ล้านบาท โดยราคาขายส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 93 บาท”
สร้างแบรนด์ด้วยคุณค่า...กับความท้าทายด้านราคา
คุณภาพของทุเรียน นอกเหนือไปจากเรื่องของหนามเขียว ไร้หนอน ไร้สารตกค้าง ไม่เป็นทุเรียนอ่อน ความโดดเด่นของ “ทุเรียนหมอนทองบาตามัส” ที่แตกต่างจาก “ทุเรียนหมอนทอง” ทั่วไป ก็คือ “เวลา” ทุเรียนที่ปลูกโดยทั่วไปสามารถเร่งการสุกของเนื้อได้โดยการหยุดให้น้ำเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่บาตามัสซึ่งเป็นทุเรียนภูเขา ปลูกตามแนวเทือกเขา ไม่สามารถเร่งกระบวนการเก็บเกี่ยวได้ จำเป็นต้องรอให้ผลผลิตค่อย ๆ สุกเองตามธรรมชาติ ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ ไอหมอก และอุณหภูมิแบบเขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งข้อจำกัดนี้นำมาสู่ข้อดีที่สำคัญคือจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งที่สูงถึง 35-38% ทำให้รสชาติหอมหวาน และผลผลิตจะออกสู่ตลาดช้าเมื่อเทียบกับทุเรียนแหล่งอื่น คือ ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. โดยในปีนี้ทางเครือข่ายตั้งเป้าหมายขยับราคาขายขึ้นเป็นราคาหน้าสวนประมาณ 80 บาท ราคาขายปลีกประมาณ 120 บาท ซึ่งถือเป็นความท้าทายของเหล่าเกษตรกรผู้ที่ผันตัวเองมาสู่การเป็นผู้ประกอบการสินค้าเกษตร
จาก “ราก” ถึง “ลูก”
ทุเรียนบาตามัสปลูกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา อันเป็นพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสายพันธุ์ ‘ทุเรียน’ ดั้งเดิม และเป็นถิ่นกำเนิดทุเรียนแห่งแรกในประเทศไทย แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของป่าดิบชื้นแห่งเทือกเขาสันกาลาคีรี ป่าฮาลาบาลา ลุ่มแม่น้ำสายบุรีและปัตตานี อีกทั้งยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับอ่าวไทย ด้วยภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทำให้บริเวณแห่งนี้อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ทุเรียนบาตาบัสนั้นปลูกบนผืนดินที่อุดมด้วยแร่ธาตุ บางแห่งปลูกบนผืนดินที่มีแหล่งแร่ทองคำและใช้น้ำที่มาจากธรรมชาติของเทือกเขา ซึ่งยังคงสะอาดและบริสุทธิ์
ทุเรียนบาตามัสใช้วิธีการบ่มจากธรรมชาติ โดย “ไม่เร่ง” ทำให้ทุเรียนสุกตามกลไกของธรรมชาติ จึงใช้เวลาเก็บเกี่ยวนานกว่าที่อื่น แต่ก็ได้ทุเรียนที่แก่จัดและรสชาติหวานอร่อยอย่างลึกล้ำ การันตีด้วยมาตรฐานการส่งออกที่เน้น ‘หนามเขียว ไม่มีหนอน’ คือ ผลเขียวทั้งลูกและไม่มีหนอนเจาะ สะท้อนถึงการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรในเครือข่ายเป็นอย่างดี แม้ว่าทุเรียนบางต้นจะมีความสูงถึง 20 เมตร ซึ่งยากต่อการดูแล การรวมตัวเป็นเครือข่าย มีการทำงานที่เคร่งครัด ตรวจสอบกัน ทำให้สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ทุเรียนบาตามัสยัง ‘แก่จริง ไม่มีอ่อน’ การันตีด้วยการวัดค่าเปอร์เซ็นต์แป้งขั้นต่ำ 32 เปอร์เซ็นต์แป้ง ก่อนจะตัดขาย ทำให้ทุเรียนบาตามัสแก่จัดและทำให้ผู้บริโภคได้กินทุเรียนหวานอร่อยอย่างประทับใจ
เปลี่ยนเกมขาย สู่ความยั่งยืน
“การส่งออก มีข้อดีคือบริหารจัดการง่ายสำหรับเกษตรกร เพราะเป็นการขายเหมาให้กับล้งที่ส่งออกต่างประเทศ แต่ไม่ได้สร้างการจดจำ โดยเฉพาะสำหรับคนไทย ทางเครือข่ายจึงปรับสัดส่วนมาเป็นการส่งออก 85% และจำหน่ายในประเทศ 15% ซึ่งประกอบด้วยการขายผ่านล้งและขายปลีกไปยังลูกค้าโดยตรง โดยมีความท้าท้ายทั้งสองรูปแบบ ในการขายผ่านล้ง ก็ต้องมีการสื่อสารพูดคุยทำความเข้าใจกับล้งต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำเรื่องราวของทุเรียนบาตามัส ส่งต่อไปพร้อมกับการขายปลีกของเขาได้ ในขณะที่การขายปลีกโดยเกษตรกร ก็จะเน้นการขายออนไลน์ ซึ่งก็จะมีรายละเอียดอย่างการคุยกับลูกค้า การบรรจุและขนส่ง การเคลม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นทักษะใหม่สำหรับพวกเรา” นายเอกพล กล่าว
การสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรทุเรียนบาตามัสผ่านการขายในทุก ๆ รูปแบบ เป็นกลยุทธ์ต่อไปที่เครือข่ายจะใช้ดำเนินการสำหรับฤดูกาลของผลผลิตที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ พร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือทั้งภายในเครือข่ายและภาคี เพื่อให้ได้การสนับสนุนและผลักดัน การเป็นที่จดจำในฐานะของ “ความอร่อยที่ห้ามเร่ง” ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ราคาขายในท้องตลาดสูงขึ้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนความยั่งยืนในการเพาะปลูก เป็นความภูมิใจและเป็นกำลังใจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องใช้ความมานะอดทนในการดูแลเอาใจใส่ผลผลิต ที่สำคัญคือการส่งสัญญาณไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่อยู่ต่างถิ่น ให้มองเห็นโอกาสที่จะหวนคืนสู่ภูมิลำเนา
หมอนทองคุณภาพที่คนไทยห้ามพลาด
No comments:
Post a Comment