มะเร็งเต้านม ยังคงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของหญิงไทย เพราะการขาดความรู้ความเข้าใจในสาเหตุของโรค ทำให้แนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวยังคงมีสูงขึ้นทุกปี แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญและจัดกิจกรรมให้ความรู้หรือจัดการตรวจคัดกรองให้กับหญิงไทยในหลายกลุ่ม แต่สถิติการเกิดมะเร็งเต้านม หรืออัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมก็ยังไม่ลดลง ทั้งที่มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบได้เร็ว
บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้หญิงเพื่อให้ปลอดภัยจากมะเร็งเต้านมมาโดยตลอด ภายใต้โครงการ“วาโก้โบว์ชมพูสู้มะเร็งเต้านม” ที่รณรงค์ให้หญิงไทยโดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านและสตรีสูงอายุในชุมชน ได้ตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม ด้วยการส่งเสริมให้จัดโครงการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 24 ปี โดยล่าสุดร่วมกับสำนักงานเขตสาทร นำโดย นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร และ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ นำโดย นายแพทย์กมลรัตน์ จงธนากร จัดกิจกรรม “วาโก้โบว์ชมพูสู้มะเร็งเต้านม เพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “วาโก้โบว์ชมพูสู้มะเร็งเต้านม” ให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่เขตสาทร จัดให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม สอนวิธีการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม พร้อมสาธิตการตรวจหาความผิดปกติของเต้านมด้วยตนเอง โดยทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ พร้อมฝึกปฏิบัติการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และตรวจคัดกรองเต้านมโดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ หากพบความผิดปกติจะส่งตรวจซ้ำด้วยเครื่องตรวจเมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำมากขึ้นโดยทางบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจ และหากพบร่องรอยของโรคก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป
นางนงลักษณ์ เตชะบุญเอนก กรรมการบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพราะความห่วงใยในสุขภาพของหญิงไทย ไทยวาโก้จึงได้รณรงค์ให้หญิงไทยรู้จักการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากมะเร็งเต้านมด้วยการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ในชุมชน ให้ความรู้และจัดกิจกรรมการคัดกรองมะเร็งเต้านมมาหลายปี โดยร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่ต่างๆ และโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง แม้ว่าในแต่ละปีจะสามารถตรวจคัดกรองหญิงไทยได้ประมาณ 17,000 คน แต่จำนวนหญิงไทยที่เป็นมะเร็งเต้านมก็ยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ปัจจุบันมีข้อมูลที่มากเพียงพอที่จะทำให้เราตระหนักรู้มากขึ้น ทำให้หลายคนหันมาใส่ใจรักสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ต้องขอขอบคุณทางผู้อำนวยการเขตสาทร และทีมแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ที่มาร่วมกันให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมกับชาวเขตสาทร
พร้อมกันนี้ ภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “เรื่องรอบเต้า” โดย นายแพทย์วรอรรถ กุลนุชวานิช แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบที่ผู้หญิงทุกคนต้องใส่ใจและระวัง จะพบว่ามีโครงการรณรงค์เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมจำนวนมาก เพราะเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง จากสถิติพบว่าในผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็น 15% ตลอดชีวิต โดยผู้หญิง 8 คน จะพบว่าเป็น 1 คน แต่ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองที่ทำให้พบได้ตั้งแต่ระยะแรกของการเป็นโรคนี้ ทำให้การรักษาทำได้ง่ายกว่า
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมจะเกี่ยวกับพันธุกรรม ดังนั้นคนที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น การไม่มีบุตรหรือมีตอนอายุมากๆ ก็มีความเสี่ยง โดยโรคนี้มักพบในคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นจึงควรเริ่มการตรวจคัดกรองก่อนอายุ 50 นอกจากนี้ความเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การปล่อยให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือการรับฮอร์โมนเสริม หรือได้ฮอร์โมนมากผิดปกติ คนที่มีประจำเดือนมาเร็วหรือหมดช้าก็มีความเสี่ยงมากด้วยเช่นกัน รวมถึงคนที่มีเนื้อบริเวณเต้านมเยอะ ก็ควรจะต้องเข้ารับการตรวจบ่อยเพราะมีพื้นที่ของเต้านมมาก จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้มากขึ้น จึงต้องดูแลรักษาสุขภาพและดูแลโภชนาการอาหารที่รับประทาน ให้มีความเหมาะสมและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
สำหรับอาการผิดปกติที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านม มีหลายอาการ ได้แก่
1) รู้สึกผิวหนาขึ้น แข็งขึ้น มีจุดบุ๋ม มีสะเก็ดตรงหัวนมที่ดูผิดปกติ อาจรู้สึกบวมหรือร้อนตรงหัวนม
2) มีน้ำนมไหลออกมา โดยที่ไม่ได้อยู่ในภาวะตั้งครรภ์
3) ขนาดเต้าเปลี่ยนแปลงไป บวมโตขึ้นอย่างผิดสังเกต
4) ผิวดูเหมือนผิวส้ม เพราะมะเร็งกินมาบริเวณผิวทำให้ทางเดินน้ำเหลืองเสียไป
5) คลำเจอก้อน
6) เกิดการตึงรั้งของหัวนม ทำให้หัวนมบุ๋มลงไป
7) มีผื่นแดงบริเวณรอบๆ
8) มีเลือดหรือของเหลวไหลออกมา ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองที่ดีจะทำให้เจอโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก้อนที่พบจะมีขนาดเล็กกว่า ทำให้รักษาได้ง่ายกว่า และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ 25-30%
สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้กับทุกคน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน โดยตรวจหลังมีรอบเดือน เต้านมจะไม่ตึง ควรตรวจตอนอาบน้ำหรือตอนนอน การตรวจด้วยมือ ต้องก้อนใหญ่ระดับหนึ่งถึงจะคลำเจอ จึงควรตรวจซ้ำด้วยการทำเมมโมแกรม ทั้งนี้ ผู้หญิงควรทำเมมโมแกรมอย่างน้อยปีละครั้งในช่วงอายุ 40-75 ปี หากผลการตรวจพบว่ามีก้อนระดับ 4-6 อาจจะมีโอกาสเป็นได้ จะต้องตรวจยืนยันด้วยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ แนวทางการวินิจฉัย หากคลำพบก้อน จะต้องตรวจเมมโมแกรมเพิ่มเติม รวมถึงการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม หากพบร่อยรอยของโรคจะมีการวางแผนการรักษา โดยขั้นตอนการรักษา จะขึ้นอยู่กับระยะที่เจอ หลักๆ คือจะต้องผ่าออก ส่วนจะมีวิธีการรักษาแบบอื่นควบคู่ไปด้วยหรือไม่ อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
โครงการ “วาโก้โบว์ชมพูสู้มะเร็งเต้านม” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างวาโก้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและวิธีการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม รวมถึงการสอนตรวจหาความผิดปกติที่เต้านมด้วยตนเอง เพื่อการตรวจรักษาได้ทันท่วงทีหากเป็นอาการของโรคมะเร็งเต้านมจริง เพราะมะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบอาการแต่เนิ่นๆ
No comments:
Post a Comment