เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ หอประชุม โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ หัวหน้าโครงการ ”จินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น” พร้อมด้วยคุณประสงค์ สุบรรณพงษ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับประธานในพิธีโดยมี คุณพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานในพิธี ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณวิจิตา รชตะนันทิกุล คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมตามสัญญาให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 ร่วมงานครั้งนี้ด้วย ในปัจจุบันมีสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กพิการทางการเห็นอย่างจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสร้างนวัตกรรมหรือโมเดลรูปแบบที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กพิการทางการเห็น การสอนผ่านละครเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ผู้ปกครองและครูผู้สอน สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้กับทุกวิชา
เนื่องจากในชีวิตประจำวันของเด็กพิการทางการเห็นจะมีโอกาสในการเคลื่อนไหวน้อยและไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยมากพอกับการเล่นหรือการออกกำลังกาย เด็กพิการทางการเห็นไม่สามารถเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นได้ เพราะเด็กพิการทางการเห็นเล่นไม่สามารถเล่นอย่างลำพังหรือรู้สึกปลอดภัยมากพอ ดังนั้นการขาดพื้นที่หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายจึงส่งผลให้เด็กพิการทางการเห็นไม่มีโอกาสได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ (Kinesthetic Development) หรือการเรียนรู้การฝึกใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวจะส่งผลถึงบุคลิกภาพการนั่งหรือการเดินอีกด้วย
ผู้จัดทําโครงการจึงออกแบบสื่อสร้างสรรค์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1) สื่อการแสดงสดในรูปแบบละครเวทีที่เน้นการมีประสบการณ์ร่วม (Immersive Theatre) และ
(2) สื่อละครเสียงและคลิปวิดีโอการเรียนการสอนเพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปพัฒนาเด็กพิการทางการมองเห็นได้ด้วยตัวเอง โดยในด้านของการออกแบบการแสดงละครที่เน้นให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วม เนื่องจากเด็กพิการทางการมองเห็นมีความจําเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ร่วมเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและการตีความสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น ผู้กำกับละครเรื่องนี้จึงออกแบบให้เด็กพิการทางการเห็นมีส่วนร่วมในการแสดง สามารถจินตนาการไปกับการสมมุติบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการเรียนรู้ทักษะชีวิต ส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมเพิ่มมากขึ้น และมีการสรุปองค์ความรู้เป็นคลิปสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบวิดีโอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครู ผู้ดูแล และผู้ปกครองสามารถนําไปประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการและทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางการเห็นที่บ้านหรือที่โรงเรียนได้เอง โดยใช้สื่อละครสร้างสรรค์ในการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
No comments:
Post a Comment