สำนักงานสถิติแห่งชาติ เตรียมความพร้อมสำหรับการ เป็น A Good Digital Citizen หรือการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ บูรณาการเครือข่ายหน่วยงานภาคีในระดับจังหวัด จัดกิจกรรมสร้างความหนักรู้การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดและอำเภอ ครั้งที่ 2
28 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 น. ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดและอำเภอ ภายใต้หัวข้อ A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” ครั้งที่ 2 โดยมี นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ และ นายจำลอง เก่งตรง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมฯ พร้อมกันนี้ยังมี หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายหน่วยงานภาคีในระดับจังหวัด ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ที่หลากหลาย ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้า การบริการ และการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกัน ก็เผชิญกับความท้าทาย หลายประการ เช่น การแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ การนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหา และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้ เช่น การพัฒนา การท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรม การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ รู้สึกดีใจและยินดีที่ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาจัดกิจกรรมที่จังหวัดสงขลา จึงขอเชิญชวนมาร่วมกันสร้างสรรค์ และพัฒนาจังหวัดสงขลา ให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และก้าวไปสู่เป้าหมาย “สงขลาเมืองอัจฉริยะ : Songkhla Smart City”
นายจำลอง เก่งตรง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้และพูดถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รับการร่วมมือจาก จังหวัดสงขลา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดสงขลา และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มาร่วมจัดนิทรรศการส่งเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัล มิติ ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) และ มิติ ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ) พร้อมทั้งการเสวนาหัวข้อ “Digital-Driven Communities: ปลอดภัย มั่นใจ ยั่งยืน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ๕ เป็นผู้ร่วมเสวนาดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านได้มาพร้อมกัน และเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดและอำเภอ ภายใต้หัวข้อ A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การทำงาน การเรียนรู้ หรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาท และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปอย่างมาก ในขณะที่ เทคโนโลยีดิจิทัลนำมาซึ่งความสะดวกสบาย แต่ก็มาพร้อมกับภัยคุกคามต่าง ๆ เช่นกัน อาทิ การหลอกลวงออนไลน์ การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือการแฮ็กข้อมูล ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อความปลอดภัยและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นในวันนี้ เราจะมาเตรียมความพร้อม สำหรับการเป็น A Good Digital Citizen หรือการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ‘ความเป็นพลเมืองดิจิทัล’ ประกอบด้วย ความรับผิดชอบ มีจริยธรรม เห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น มีส่วนร่วม และมุ่งเน้นความเป็นธรรม ในสังคม เพื่อรักษากฎเกณฑ์ สมดุล ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในโลกออนไลน์ ที่มีสมาชิกที่รวมคนทั่วโลกใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งทักษะของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี มีอยู่ 8 ทักษะ ได้แก่ 1.ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity) 2.ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) 3.ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking) 4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management) 5.ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management) 6.ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints) 7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management) 8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy)
ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับพื้นที่ โดยเน้นให้ประชาชนมีความรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ส่งเสริมการเป็น "พลเมืองดิจิทัลที่ดี" ซึ่งรวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ในชีวิตประจำวัน การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยออนไลน์ และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนที่เข้าร่วม สามารถสร้างเครือข่ายอาสาสมัครอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนกิจกรรมทางด้านดิจิทัล ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านดิจิทัล ร่วมกับชุมชนในระดับท้องถิ่น เกิดเป็นโซ่ข้อกลาง ในการส่งเสริมการเข้าถึงดิจิทัลของประชาชน สร้างโอกาสและรายได้จากช่องทางดิจิทัลได้ และหวังว่าในปี พ.ศ. 2568 จะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการในพื้นที่มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการให้สามารถขยายผลได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีการดำเนินงานโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนืองเป็น 878 อำเภอทั่วประเทศ โดยขยายครอบคลุมไปยังหมู่บ้าน/ชุมชน ที่เหลือให้ครอบคลุม พร้อมทั้งขยายผลไปยังกลุ่มเปราะบาง (เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ) ให้ได้รับโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูล เป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีทักษะดิจิทัล และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีร่วมกัน
No comments:
Post a Comment