โรคไอกรน (Pertussis หรือ Whooping Cough) เป็นโรคติดต่อ ติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ในกลุ่มบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella Pertussis) แพร่กระจายโดย ติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการไอหรือจาม ผ่านสารคัดหลั่งของผู้มีเชื้อ โดยเชื้อมักอยู่ในลำคอ และทางเดินหายใจส่วนต้นของผู้ป่วย ซึ่งจะติดต่อกันได้ง่ายจากการสัมผัสโรคโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ในช่วงแรก จะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล จากนั้น อาการไอจะต่อเนื่องอย่างรุนแรง และ มีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์หรือเสียงดัง วู้ป (ไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบาก) จึงมักเรียกว่า Whooping Cough ในทารกหรือเด็กเล็กอาจไม่พบอาการไอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเป็นหลัก จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากและเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยมีระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 5-10 วัน ในบางรายอาจมีระยะของการฟักเชื้อที่นานกว่านั้นได้ แต่ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้ว ไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค ซึ่งบทความให้ความรู้โดย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของอาการป่วย การตรวจวินิจฉัย และการดูแลป้องรักษา เพื่อจะได้สังเกตลูกน้อยและตนเองนำไปสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้อง
อาการและอาการแสดง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะแรก จะเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ มีน้ำมูก และไอ อาจจะเป็นได้ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล ช่วง 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน ยกเว้นมีอาการไอเกิน 10 วัน ซึ่งอาการไอ ที่ต้องเฝ้าสังเกตุ ว่าอาจติดเชื้อโรคไอกรน คือ
- มีเสียงของลมหายใจดัง “วู้ป”
- อาเจียน ในขณะไอหรือหลังอาการไอ
- มีอาการหน้าเขียว หรือหน้าแดงหลังอาการไอ
- รู้สึกเหนื่อยมากหลังอาการไอ
2. ระยะของอาการไอเป็นชุด ๆ เริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 มักจะเป็นอาการไอแห้ง ๆ ไอไม่มีเสมหะ แต่จะมีอาการไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด ๆ 5-10 ครั้ง จบท้ายด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงวู๊บ “Whoop” ซึ่งเกิดจากเสียงหายใจเอาลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่มีอาการไอมาก ๆ นั้น ผู้ป่วยมักจะมีน้ำมูกน้ำตาไหล ตาแดง ตาถลน ลิ้นจุกปาก หายใจลำบาก ซึ่งเป็นการพยายามกำจัดเสมหะที่เหนียวข้นออกนั่นเอง ในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหายใจไม่ทัน อาการเขียวได้บ่อย ๆ บางครั้งรุนแรงจนหยุดหายใจร่วมด้วย ระยะไอของช่วงอาการนี้จะเป็นอยู่ได้นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้
3. ระยะฟื้นตัวเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุด ๆ นั้น จะค่อย ๆ ลดลง ทั้งความรุนแรง และความถี่ของการไอ ดังนั้นหากไม่มีอาการแทรกซ้อนของปอดอักเสบ หรืออาการอื่น ๆ จะใช้เวลา 6-10 สัปดาห์อาการดีขึ้น
การวินิจฉัยไอกรน
วินิจฉัยจากอาการลักษณะของการไอเป็นหลัก หรือตรวจร่างกายในระยะแรกจะมีอาการคล้ายกับโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไปดังนี้
• การเพาะเชื้อ โดยการเก็บตัวอย่างเชื้อหรือสารคัดหลั่งที่บริเวณจมูก หรือลำคอไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย
• การตรวจเลือด จะพบว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนที่มากขึ้นจะแสดงถึงการติดเชื้อหรือการอักเสบที่เกิดขึ้น
• การเอกซเรย์ทรวงอก อาจมีอาการของหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนได้
การรักษาไอกรน
1. เน้นการประคับประคองตามอาการ เน้นลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งบรรเทาอาการไอ และลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการไอ เช่น เพิ่มความชุ่มชื้นของทางเดินหายใจ และการขจัดเสมหะ
2. ยาปฏิชีวนะ เช่น อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ต่อเนื่องนานประมาณ 2 สัปดาห์ (14วัน)
สำหรับผู้ป่วยเด็กทารก หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับระบบการหายใจ หรือมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีอาการของภาวะขาดน้ำ
ภาวะแทรกซ้อนของไอกรน
เด็กทารกและเด็กเล็ก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เด็กโตและผู้ใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรง
• ระบบทางเดินหายใจ คือ อาการปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดแฟบจากการที่มีเสมหะไปอุดตัน
• อาการแทรกซ้อนจากการไอที่รุนแรง คือ เลือดออกเยื่อบุตา จ้ำเลือดผิวหน้า ผิวรอบดวงตา อาจรุนแรงไปจนถึงเลือดฝอยเล็กในสมองได้
• ระบบประสาท อาจมีอาการชักในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองชั่วขณะ ตอนที่มีไอถี่ ๆ และอาจมีเลือดออกในสมองได้
วิธีการป้องกันโรคไอกรน
โรคไอกรน เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ซึ่งเป็นวัคซีนภาคบังคับอยู่แล้ว เริ่มฉีด 3 เข็มแรกที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และเข็มที่ 4 เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือน จากนั้น เข็มที่ 5 ตอนอายุ 4-6 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กจะหมดลงในช่วงวัยรุ่น และในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
บุคคลทั่วไป สามารถป้องกันการติดเชื้อไอกรนได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
• การรับประทานยาปฏิชีวนะ
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา Erythromycin เชื้อจะหมดไปภายใน 5 วัน จึงควรแยกผู้ป่วยอย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่เริ่มให้ยา หรือแยก 3 สัปดาห์ หลังจากที่เริ่มมีอาการไอของระยะไอเป็นชุด ๆ หากพบว่ามีการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นโรคไอกรน เพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะ ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคไอกรนได้มากที่สุด และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด รวมทั้งในเด็กเล็กเองถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนอย่างน้อย 4-5 โดส (ระดับภูมิคุ้มกันอาจไม่สูงพอได้ในบางราย) ควรได้รับยา Erythromycin ด้วยเช่นกัน
• การดูแลสุขอนามัยของทางเดินหายใจที่ดี จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้โดย
การสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในแหล่งชุมชมหรือสาธารณะ หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หากมีความจำเป็นต้องไอจาม ควรมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น กระดาษ ทิชชู่ แล้วทิ้งทันที
ข้อสงสัยที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคไอกรน
• สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี ที่สัมผัสผู้ป่วยโรคไอกรน หากยังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้ไม่ครบ 4 โดส สามารถรับวัคซีนได้ตามกำหนดการรับวัคซีน หรือกระตุ้นอีก 1 ครั้งได้เลย
• เด็กที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วภายใน 3 ปี หรือเป็นเด็กอายุเกิน 6 ปี ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4-5 โดส
ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม
• แต่ถ้าเป็นเด็กอายุเกิน 6 ปี ขึ้นไป แต่ได้รับวัคซีนครั้งที่ 3 มานานเกิน 6 เดือน สามารถรับวัคซีนโดสที่ 4 ได้ทันที หลังสัมผัสโรค
ดังนั้นมาตรการทางสาธารณสุข การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการที่ช่วยลดการแพร่เชื้อ และลดโอกาสการรับเชื้อโรคไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิดอยู่ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 Line: @navavej
No comments:
Post a Comment